คนทั่วไปอาจยังไม่คุ้นหูกับคำว่าเชื้อไวรัส RSV เท่าไรนัก คนที่รู้จักไวรัสชนิดนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็น คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครอง นั่นก็เพราะ RSV คือเชื้อไวรัสสุดฮิตที่เกิดขึ้นในหมู่เด็กเล็กเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด เพราะหากพลาดไปสักนิดอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ไวรัส RSV คืออะไร

ไวรัส RSV คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษคือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเริ่มมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก

สาเหตุและการติดเชื้อไวรัส RSV

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง แต่ถ้าหากเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน

เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย มักติดต่อผ่านทางการ ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ปัจจุบันเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรงนั้นน้อยมาก เพราะไวรัส RSV ไม่ใช่เชื้อโรคที่ร้ายแรง แต่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักมาจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กมาก ๆ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจจะเกิดภาวะรุนแรงถึงขั้นการหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตได้

วิธีการป้องกัน

ผู้ปกครองสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในบุตรหลานได้โดยการพยายามให้เด็ก ๆ ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส ใส่หน้ากากอนามัยในที่ที่คนพลุกพล่าน ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะออกจากร่างกาย แต่ถ้าหากเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่หย่านม ก็สามารถให้เด็กดูดนมได้มากที่สุดตามต้องการ แยกอุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ของเด็กแต่ละคน ไม่ควรใช้ร่วมกัน

วิธีสังเกตอาการว่าติดเชื้อไวรั RSV หรือไม่

เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV ระยะเริ่มต้นนั้นใช้เวลาในการฝักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เริ่มจากการมีน้ำมูก จาม ไอ ทำให้ คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองรู้ตัวช้า ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด และต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มด้วย เช่น อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ไอ จาม มีเสมหะจำนวนมาก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ

วิธีรักษา

เบื้องต้นไวรัส RSV ไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน ดังนั้นแพทย์จึงใช้วิธีการรักษาไปตามอาการ รักษาประคับประคอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาลดไข้ หรือในเด็กบางรายที่มีลักษณะของหลอดลมตีบ ก็อาจจะมีการให้ยาพ่นเพิ่มเพื่อขยายหลอดลม รวมถึงการเคาะปอดและดูดเสมหะ

ข้อมูลโดย

อ. พญ.โสภิดา บุญสาธร
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

คลิกชมรายการได้ที่ : https://bit.ly/2O3uNw7