กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิจัยและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสื่อสำหรับเด็ก ปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี)” ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านสื่อและภาควิชาการ โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและจัดทำหลักสูตรการอบรมเบื้องต้นเพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการผลิตสื่อ สำหรับเด็กปฐมวัย ช่วงอายุ3-6 ปีที่มีความเหมาะสมกับพัฒนาการเด็กและสถานการณ์ และทดลองผลิต สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่เหมาะกับพัฒนาการเด็กปฐมวัย ตลอดจนนำร่องการใช้หลักสูตรการอบรม เบื้องต้นสำหรับพัฒนาศักยภาพคนในการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อ ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนาสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ทุน สนับสนุนและดำเนินงานเอง โดยโครงการดำเนินงานเองจะเป็นการทำงานหนุนเสริมเติมเต็มจากการให้ทุน ดังเช่นโครงการนี้เป็นการผลิตสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 3-6 ปีประเภทรายการโทรทัศน์ตาม แนวทางการวิจัยร่วมกับสหวิชาชีพทั้งภาควิชาการและวิชาชีพ เราร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเด็กและด้านสื่อ ซึ่งมุ่งมั่นให้เป็นรูปแบบการทำงานเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้น ไป ที่ทางวิชาการและการแพทย์ระบุว่าเด็กช่วงอายุดังกล่าวสามารถรับชมผ่านสื่อประเภทจอหรือโทรทัศน์ได้ และนำร่องการอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) ซึ่งเป็นความ ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาควิชาชีพและภาควิชาการ เพื่อให้ได้ทั้งเนื้อหาและรูปแบบที่เหมาะสมกับการ ผลิตงานจริงโดยโครงการดังกล่าวนี้ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 และถือว่าประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์จึงได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงระยะที่ 2 ในปี 2564 นี้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้อาจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยผู้รับผิดชอบการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ระบุว่า จากการ ศึกษาวิจัยที่ผ่านมาในปี 2563 ทำให้ได้แนวทางหลักสูตรการอบรมเบื้องต้นเพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 3-6 ปี โดยมีการนำร่องจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อสร้างองค์ความรู้และความ เข้าใจการผลิตสื่อต้นแบบสำหรับเด็กปฐมวัย ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ (D) ชั้น 3 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยเป็นวิทยากรเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้องค์ความรู้อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะด้านเนื้อหา (Content) ที่ควรมุ่งสื่อสารเพื่อส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ไม่ว่าจะเป็น รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น, ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย, ดร.แพง ชินพงศ์ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีเพื่อเด็กปฐมวัย และศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากการศึกษาทำให้ได้องค์ความรู้ในการผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย ช่วงอายุ 3-6 ปี ดังนี้ ด้านเนื้อหา (Content) ควรมุ่งสื่อสารเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ระดมความรู้ในการผลิตรายการเพื่อเด็ก ปฐมวัย อายุ 3-6 ปีจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กปฐมวัย ได้แก่ กุมารแพทย์ นักวิจัยและนักการศึกษาด้านเด็ก ผู้ผลิตสื่อเพื่อเด็กปฐมวัย และนักวิชาการด้านการผลิตสื่อเด็ก รวม 10 ท่าน ดังต่อไปนี้
- รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น
- ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริม EF และวินัยเชิงบวกในเด็กปฐมวัย
- ธิดา พิทักษ์สินสุข (ครูหวาน) กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย
- ดร.สมสุดา มัธยมจันทร์ อาจารย์ประจำ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)
- ผศ.ดร. มรรยาท อัครจันทโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผศ.ดร. กันตวรรณ มีสมสาร อาจารย์ประจำ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- ครูชีวัน วิสาสะ ( ครูชีวัน) นักเขียน-นักวาดภาพประกอบนิทานเด็ก ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ
- ภัทรจารีย์ อัยศิริ (น้านิด สโมสรผึ้งน้อย) ผู้ผลิตรายการเด็ก ที่มประสบการณ์มามากกว่า 40 ปี
- วิไลภรณ์ จงกลวัฒนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักรายการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS)
- วรินทร์เนตร เติมศิริกมล ผู้ผลิตรายการเด็กและสร้างภาพยนตร์สำหรับครอบครัว
โดยในการสนทนาดังกล่าวได้ร่วม สะท้อนเนื้อหา (Content) ที่ควรมุ่งสื่อสารเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ดังต่อไปนี้
- กระตุ้นจินตนาการ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
- พัฒนาทักษะทางสังคม (Social Skills)
- นำเสนอเนื้อหาที่สะท้อนและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเด็กๆได้
- ส่งเสริมการเข้าใจและภูมิใจในความเป็นตัวเอง (Self-Extreme)
- สอดแทรกบริบทแวดล้อมให้เหมาะสมกับสังคมไทย
นอกจากนี้ทำให้ได้ข้อสรุปจากการศึกษาด้านการนำเสนอสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรทำ (Do and Don’t) ดังนี้
สิ่งที่ควรทำ (DO)
- สื่อสารประเด็นใจความสำคัญเพียงประเด็นเดียวและต้องไม่ยาวจนไป (ความยาวที่เหมาะสมคือ 2-10 นาที โดยจำนวนนาทีที่แนะนำที่เหมาะสมอาจจะคำนวณจากอายุได้คราวๆ เช่น 3 ขวบไม่ควรเกิน 3 นาที 4 ขวบไม่ควรเกิน 4 นาที เป็นต้น)
- มีลักษณะเป็นสื่อที่สร้างการมีปฎิสัมพันธ์ (Interactive) หรือเป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two Ways Communications)
- ต้องมีความสนุกนำ ซึ่งความสนุกนั้นมักเกิดจากการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีความร่วมและมีปฎิสัมพันธ์ กับสื่อ
- สื่อต้องสร้างการมีส่วนร่วม หรือการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Learning Through Play) ไม่จงใจสอนจนเกินไป
- กระตุ้นจินตนาการ
- การนำเสนอควรจะต้องมีคาแรคเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ น่าจดจำ
- ตัวละครไม่เยอะ แต่ว่าคาแรคเตอร์ของแต่ละตัวขอให้ชัดเจน
- เรื่องต้องเป็นเชิงประจักษ์ เป็นพฤติกรรมที่เห็นชัดเจน ไม่เป็นนามธรรม
- เนื้อหาเรียบง่าย (Simplify) ไม่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เด็ก ๆ จะนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง
- สามารถใช้และเพลงประกอบ เพื่อความน่าสนใจและเพื่อความสนุกสนาน และดนตรียังจะช่วยเสริมสร้างจินตนาการได้ด้วย และเป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กๆได้ง่าย
- ใช้แก่นการนำเสนอด้วย Positive Approach และใช้ถ้อยคำในเชิงบวกเพื่อเสริมพลังบวก
- ใช้หลักการนำเสนอเน้นย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ในใจความ หรือ ถ้อยคำสำคัญ (Keywords) ที่ต้องการสื่อสารให้ชัดเจน
- จบแบบ Happy Ending
สิ่งที่ไม่ควรทำ (Don’t)
- การสร้างตัวละครที่โหดร้าย หรือเป็นผู้ร้ายรุนแรงเกินไป
- ระวังการใช้ภาพเสียงที่รุนแรง
- อย่ายัดเยียดในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็ก
- ระวังเรื่องเนื้อหาที่เด็กอาจจะเลียนแบบ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายหรือผลเสียต่อตัวเด็กได้
- อย่าพูดเยอะ Less Talk More Action ต้องเน้นที่การกระทำ มีบทพูด บทสนทนาให้น้อยแต่แสดงให้เห็นเป็นการกระทำให้ชัดเจน
- ไม่สื่อสารแบบ One-way Communications ไม่มองเด็กเป็น passive audience
- ไม่แกล้งใช้ทำเสียงเลียนแบบเด็กๆ เพราะเด็กจะรู้สึกถูกล้อเลียน การใช้เสียงต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน
สำหรับการทดลองผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น ได้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยในช่วง 3-6 ขวบ ที่มีเนื้อหาเน้นเสริมสร้างทักษะสังคมควบคู่กับศิลปะและดนตรี จำนวน 2 รายการ ได้แก่ รายการ Flowers Power ความยาว 5 นาที จำนวน 2 ตอน เป็นรายการสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีเนื้อหาด้านทักษะสังคมและศิลปะ และรายการ Sound to Song ความยาว 5 นาที จำนวน 2 ตอน เป็นรายการสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีเนื้อหาด้านทักษะสังคมและดนตรีผสานการเคลื่อนไหว จากนั้นได้มีการทดลองให้เด็กปฐมวัยได้รับชมเพื่อนำผลตอบรับมาพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งการทดลองผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) แล้วนำไปให้เด็กกลุ่มเป้าหมายได้รับชม ทำให้ทราบผลตอบรับต่อรูปแบบและเนื้อหาของรายการ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอเพื่อการพัฒนาการผลิตรายการสำหรับสำหรับเด็กปฐมวัยให้มีเหมาะสมกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในช่วงอายุ 3-6 ปี ในการศึกษาระยะต่อไป