สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารสิริภักดีธรรม เนื่องในโอกาสสมโภชพระอาราม ๑๙๐ ปี วัดประยุรวงศาวาสวรวรวิหาร ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยมี คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการอำนวยการโครงการก่อสร้างอาคารศึกษาและปฏิบัติธรรมวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรรมการมูลนิธิสิริวัฒนภักดี และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย คุณปภัชญา สิริวัฒนภักดี ร่วมด้วย คณะที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เฝ้าฯรับเสด็จ

เกี่ยวกับรายละเอียด อาคารสิริภักดีธรรม คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการอำนวยการ โครงการก่อสร้างอาคารศึกษาและปฏิบัติธรรมวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรรมการมูลนิธิสิริวัฒนภักดี และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “จุดประสงค์หลักของการก่อสร้างอาคารสิริภักดีธรรม ซึ่งเป็นอาคารศึกษาและปฏิบัติธรรมที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของ พระเดชพระคุณ พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ใช้สอยภายในบริเวณวัดให้ได้ประโยชน์ในการเผยแผ่สูงสุด โดยจะเอื้อต่อภารกิจของวัดในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภิกษุสงฆ์และสามเณร รวมถึงพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาอีกด้วย มูลนิธิสิริวัฒนภักดี ได้เล็งเห็นความสำคัของการสืบทอดบวรพุทธศาสนา จึงได้แสดงความจำนงสร้างอาคารศึกษาและปฏิบัติธรรมถวายวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เพื่อเทิดพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามอาคารศึกษา และปฏิบัติธรรมแห่งนี้ว่า “อาคารสิริภักดีธรรม” ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้น ขนาดกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๕๒ เมตร และมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม คือลวดลายของอาคารได้ใช้แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม ร่วมสมัย เช่นเดียวกับอาคารโรงเรียนพุทธศาสนา ได้แก่ ลายประจำยามซึ่งเป็นลายไทยพื้นฐานมาช่วยในการตกแต่งในส่วนของประตูหน้าต่าง ในส่วนของค้ำยัน (คันทวย) ได้ใช้ลวดลายของพระพรหมวิจิตรมาปรับสัดส่วนให้เข้ากับอาคาร นอกจากรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมแล้ว ยังคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร การระบายอากาศ และการนำแสงสว่างเข้ามาในอาคารอย่างเพียงพอ เพื่อประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

ชั้นหนึ่ง จัดเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด โดยในส่วนของห้องสมุดจะมีการรวบรวมหนังสือและสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่และที่เกี่ยวกับการเทศน์ทั้งหมดของวัดต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงหนังสือของพระอาจารย์ท่านต่างๆ ภายในวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เช่น หนังสือของหลวงตาแพร เยื่อไม้ ตั้งแต่อดีต ส่วนพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการจะรวบรวมของที่ระลึกที่มีคุณค่าที่ผู้มีจิตศรัทธาถวายแด่พระเดชพระคุณ พระพรหมบัณฑิต จัดแสดงควบคู่กับประวัติของท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ชั้นสอง จัดสร้างเป็นที่พักสำหรับผู้ที่มาปฏิบัติธรรม ซึ่งในส่วนนี้นับเป็นการจัดทำขึ้นเพื่ออำนวย ความสะดวกกับผู้ที่มาเข้าร่วมการปฏิบัติธรรม เนื่องจากในอดีตหากมีการจัดโครงการอบรมธรรมะหรือการปฏิบัติธรรมขึ้นภายในวัด ผู้ที่มาเข้าร่วมจะพักอยู่ที่โรงเรียนส่งเสริมพระพุทธศาสนา ซึ่งอาจมีความไม่สะดวกเท่าใดนัก และชั้นสาม ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ จัดเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาและปฏิบัติธรรมควบคู่กัน จุดประสงค์ของการสร้างอาคารนี้มีอยู่สองอย่าง แม้ชื่อเริ่มแรกจะเป็นอาคารปฏิบัติธรรมแต่จะรวมเรื่องการศึกษาธรรมะเข้าไปด้วยเพราะในแง่ของการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้มีเพียงการนั่งกรรมฐานอย่างเดียว แต่จะมีการบรรยายธรรมอบรมศีลธรรม ควบคู่ไปด้วย เรียกว่าเป็นการอบรมด้านธรรมะที่มีทั้งปฏิบัติธรรม กรรมฐาน และบรรยายธรรมควบคู่กัน