มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผุด 2 นวัตกรรมสุดเก๋ตอบโจทย์คุณแม่ยุค 4.0 รับวันแม่แห่งชาติ 2561 คือ “เครื่องตรวจครรภ์เรียลไทม์” นวัตกรรมช่วยวินิจฉัยและติดตามครรภ์คุณแม่มือใหม่ในทุกสภาวะ พร้อมแจ้งเตือนและเรียกคุณแม่เข้ามาพบแพทย์ได้ในทันทีหากเกิดอาการผิดปกติ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอันตรายต่อของแม่และทารกในครรภ์ จากการพบแพทย์ช้าเกินไป และ “อาหารเสริมเร่งน้ำนมแม่จากสารสกัดปลีกล้วย” นวัตกรรมกระตุ้นน้ำนมแม่จากสารสกัดปลีกล้วยแบบอัดเม็ด สูตรเข้มข้น ที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ได้มากกว่าปกติ มาพร้อมกับคุณค่าทางโภชนาการที่ผสานเส้นใย และอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงมีแคลอรี่ต่ำ เพราะใช้ความหวานจากสารสกัดหญ้าหวาน และอิทผาลัม ทั้งนี้ “เครื่องตรวจครรภ์เรียลไทม์” ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ “อาหารเสริมเร่งน้ำนมแม่จากสารสกัดปลีกล้วย” อยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร และเตรียมพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นลำดับต่อไป
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่า มธ. เป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของเอเชีย ที่มีความโดดเด่นด้านวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง มธ. ยังคงให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้นักวิจัยไทยสามารถสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ สามารถยืนยันได้จากการคว้า 28 รางวัลจากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 46 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวว่า “เครื่องตรวจครรภ์เรียลไทม์” (Smart Real-time Online Sensor for Fetal Monitoring and Uterine Contraction) คือนวัตกรรมที่นำศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมและการแพทย์มาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน เพื่อใช้เป็นสื่อกลางการสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็วระหว่างสูตินรีแพทย์กับมารดามีครรภ์ ในการส่งข้อมูลทางกายภาพของมารดาที่จำเป็นต่อการวินิจฉัยและการเฝ้าติดตามสภาวะครรภ์ ได้แก่ การหดตัวของมดลูก ความดันโลหิตของมารดาและอัตราการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกและส่งผ่านจากเครื่องมือเข้าสู่แอปพลิเคชั่น และถูกส่งต่อไปยังสูตินรีแพทย์แบบเรียลไทม์ เพื่อประกอบการวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของครรภ์มารดา หากเกิดความผิดปกติ แพทย์จะสามารถแจ้งเตือนและเรียกมารดาเข้ามาพบแพทย์ได้ในทันที เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอันตรายของมารดาและทารกในครรภ์จากการพบแพทย์ช้าเกินไป อีกทั้งข้อมูลดังกล่าว ยังสามารถเก็บเป็นข้อมูลทางสถิติประจำตัวของมารดา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาในครั้งถัดไปและสามารถใช้เป็นชุดสาธิต รวมถึงสื่อการเรียนการสอนของแพทย์ พยาบาล และนักศึกษาทางการแพทย์
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ กล่าวเสริมว่า “เครื่องตรวจครรภ์เรียลไทม์” เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาที่พบมากในคุณแม่มือใหม่คือ การไม่เข้าใจถึงสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ จังหวะการหดรัดตัวของมดลูก ความดันเลือดของมารดา และอัตราการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ ที่อาจเป็นสัญญาณการแจ้งเตือนถึงภาวะต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายและต้องพบแพทย์ในทันที อาทิ ภาวะการคลอดก่อนกำหนด หรือครรภ์เป็นพิษ ซึ่งในบางกรณี ถ้าหากพบแพทย์ช้าอาจส่งผลให้เป็นอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้ รวมทั้งนวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถใช้ทดแทนอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ จึงสามารถลดต้นทุนการนำเข้าได้อีกด้วย โดยนวัตกรรม “เครื่องตรวจครรภ์เรียลไทม์” เป็นผลงานการวิจัยร่วมกับ ดร.พัชราภรณ์ วงศ์ชาดากุล คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายศุภเกียรติ สุภสินธุ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล มธ. และได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 46 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ “เครื่องตรวจครรภ์เรียลไทม์” ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนวัตกรรมดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาต่อเพื่อสร้างความแม่นยำในการวัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562
ด้าน ผศ.ดร.สุภกร บุญยืน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เจ้าของผลงานวิจัย “อาหารเสริมเร่งน้ำนมแม่จากสารสกัดปลีกล้วย” กล่าวว่า ทีมวิจัย คิดค้นและพัฒนา “อาหารเสริมเร่งน้ำนมแม่จากสารสกัดปลีกล้วย” นวัตกรรมกระตุ้นน้ำนมแม่จากสารสกัดปลีกล้วยแบบอัดเม็ด สูตรเข้มข้น ที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ได้มากกว่าปกติ ซึ่งมาพร้อมกับคุณค่าทางโภชนาการของปลีกล้วยที่มีสรรพคุณทางยา อีกทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำ เพราะใช้ความหวานจากสารสกัดหญ้าหวาน และอินทผาลัม ทั้งนี้ “ปลีกล้วย” จัดเป็นพืชที่อุดมไปด้วยแทนนิน สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และสารต่อต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งมีส่วนช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ส่วน “หัวปลีกล้วย” เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กจากธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง อีกทั้งมีสรรพคุณในการลดน้ำตาลในเลือด
ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างการเตรียมออกแบบตัวอาหารเสริมเร่งน้ำนมแม่ฯ เพื่อผลิตจริงและทดสอบประสิทธิภาพในหญิงตั้งครรภ์ (Clinical Test) โดยอยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร พร้อมพัฒนาต่อในรูปแบบของเพาเวอร์เจล หรือ เจลที่ให้พลังงานชนิดหนึ่ง ที่สะดวกต่อการบริโภคและพกพา รวมถึงดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) เป็นลำดับต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2562
อย่างไรก็ตาม “นมแม่” ถือเป็นแหล่งอาหารเริ่มต้นที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อลูกครบถ้วน โดยมีส่วนช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานโรค มีสุขภาพแข็งแรง และมีพัฒนาการที่เติบโตสมวัย โดยเด็กควรกินน้ำนมแม่นับตั้งตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ เด็กทารกที่ได้กินนมแม่จะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยน้อย รวมทั้งมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ (ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข) ผศ.ดร.สุภกร กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. โทร. 0-2564-3001 ถึง 9 ต่อ 3041, 3151 และ สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทร. 02-564-4440 ต่อ 2401