• ผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 ของซิกน่าเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 (ชุดแรก)ระบุว่าผู้คนมีความรู้สึกเหงาลดลง
  • ผลคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่บางส่วนยังทรงตัวในช่วงการระบาดของโรคจนถึงปัจจุบัน
  • คนไทยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจการทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งอาจส่งผลให้รูปแบบการทำงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรเมื่อมาตรการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง

ซิกน่าอินเตอร์เนชันแนลมาร์เกตส์ ร่วมกับ บริษัท กันตาร์ (Kantar) เผยผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 ประจำปี 2563 ของซิกน่า(360 Well-Being Survey) เกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 (ชุดแรก) ที่มุ่งมั่นศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อภาวะความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก

การสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 ของซิกน่า เป็นการติดตามทัศนคติและการรับรู้ของผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเอง ซึ่งมีดัชนีชี้วัดที่ครอบคลุมทุกมิติรอบด้าน ทั้งในด้านของความเป็นอยู่ทางกายภาพ, ครอบครัว, สังคม, การเงิน และการทำงาน โดยได้ทำการสำรวจต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ส่วนในรายงานฉบับพิเศษนี้มีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้นจำนวน 10,204 คนจาก 8 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ระยะเวลาการสำรวจตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก และหัวข้อการศึกษาประกอบไปด้วย ภาวะความเหงา การทำงานจากที่บ้าน การบริการด้านสุขภาพเสมือนจริง ความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน และวิถีชีวิตแบบใหม่ ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้

คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ในด้านต่างๆยังทรงตัว

รายงานวิจัยฉบับใหม่นี้ บ่งชี้ว่า การรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองนั้นสามารถปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าประหลาดใจ โดยดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกในภาพรวม ยังคงทรงตัวอยู่ที่ 62.5 คะแนน ถึงแม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ก็ตาม

จากรายงาน พบว่า ดัชนีชี้วัดสุขภาพและความเป็นอยู่ทางด้านการเงินและสังคมลดต่ำลง สาเหตุมาจากความสามารถในการรักษามาตรฐานการครองชีพและมีเวลาส่วนตัวกับเพื่อนๆลดลง ในทางกลับกัน ดัชนีชี้วัดสุขภาพและความเป็นอยู่ทางด้านครอบครัวและการทำงานยังคงเดิม ผู้คนมีความสามารถในการเรียนรู้และฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาเพิ่มขึ้น 4% มีความสามารถในการสร้างสมดุลให้กับชีวิตการทำงานเพิ่มขึ้น 1% นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจจากทั่วโลกมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านของความสามารถในการดูแลความเป็นอยู่ของคู่สมรส (เพิ่มจาก 44% เป็น 47%) และของบุตร (เพิ่มขึ้น 3% จาก 48% เป็น 51%) รวมถึงมีความรู้สึกว่าได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น (เพิ่ม 2% จาก 43% เป็น 45%)

การทำงานที่บ้านเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน ความสัมพันธ์และการสื่อสารเกี่ยวกับงานมากขึ้น

แม้อาจต้องใช้เวลาไปกับการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น แต่ผู้คนก็ยังมองว่าการทำงานจากที่บ้านทำให้ชีวิตการทำงานของพวกเขาดีขึ้น จากรายงานพบว่า 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย ระบุว่า วันทำงานของพวกเขามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ตามมาด้วยประเทศสเปน 80% และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 79% ซึ่งถือว่ามีค่าเฉลี่ยสูงกว่าทั่วโลกถึง 76% และด้วยเหตุนี้เองอาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่ารูปแบบการทำงานของผู้คนอาจจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร เมื่อมาตรการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง

ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยยังระบุอีกว่า พวกเขามีความใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานมากยิ่งขึ้นในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤต โดย 68% เห็นด้วยว่าการทำงานจากที่บ้านและการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถช่วยปรับปรุงการสื่อสารและการเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับ 64% จากค่าเฉลี่ยทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน ก็ยังมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามอีก 8% ที่ระบุว่าไม่ได้ช่วยปรับปรุงระบบการทำงานแต่อย่างใด

ผู้คนรู้สึกเหงาน้อยลง

รายงานผลการศึกษาผลกระทบฉบับแรกนี้ พบว่า ผู้คนรู้สึกเหงาลดลง โดยการล็อกดาวน์อาจเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้คนได้ จากรายงานของเดือนเมษายนพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าพวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวและห่างไกลจากผู้อื่นลดลง (8%) เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม (11%) แต่เมื่อสอบถามว่าพวกเขาเหล่านั้นรู้สึกใกล้ชิดกับผู้อื่นมากขึ้นหรือไม่ พบว่า 73% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่าใช่ และระบุว่ารู้สึกใกล้ชิดกับผู้อื่นมากยิ่งขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อเปรียบเทียบกับ 69% ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ แม้ในหลายประเทศจะมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จ แต่ในบางประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่าระดับความใกล้ชิดถูกพัฒนาขึ้น จาก 71% เป็น 80% และ ในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 79% ส่วนสเปนเพิ่มขึ้นจาก 81% เป็น 91%

ผู้คนประสบปัญหาเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานยาวนานมากขึ้น

แม้คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น แต่ส่วนมากกลับเห็นด้วยในมาตรการการทำงานจากที่บ้าน และลงความเห็นว่ารูปแบบการทำงานในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ทั้งนี้จากการสำรวจ พบว่า ประเทศส่วนใหญ่ที่มีมาตรการทำงานจากที่บ้าน กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า ‘Always on’ และรู้สึกว่าวันทำงานของพวกเขายาวนานมากยิ่งขึ้น โดย 75% ของคนไทยเห็นด้วยกับเรื่องนี้

คุณธีรวุฒิ สุธนะเสรีพร, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่เกี่ยวกับความรู้สึกความเหงาและโดดเดี่ยวที่ลดลงนั้นเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง แต่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเทคโนโลยีทางดิจิทัลที่ให้ผลลัพธ์ในเชิงบวก โดยเราพบว่าทัศนคติต่อการทำงานของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงไป คนไทยจำนวนมากมองว่าการทำงานจากที่บ้านให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกได้หลายแง่มุมมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการปรับสมดุลความรับผิดชอบต่อครอบครัว และหน้าที่การงาน แม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกว่าชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้นก็ตาม ทั้งนี้จากผลสำรวจดังกล่าว ทำให้เรามองภาพรวมของประเทศไทยได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนรู้สึกว่าพวกเขามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นแม้ว่าต้องทำงานจากที่บ้าน ซึ่งสอดคล้องไปกับวิถีการทำงานของ ซิกน่า ประเทศไทย ที่ยังคงรักษามาตรฐานในการให้บริการลูกค้าได้อย่างยอดเยี่ยม ตลอดจนการตัดสินใจขยายทางเลือกในการทำงานจากที่บ้านให้แก่พนักงานในบางแผนกไปจนถึงสิ้นปี”

ความต้องการด้านการบริการสุขภาพเสมือนจริงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความต้องการในเรื่องของบริการด้านสุขภาพเสมือนจริง (virtual health) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 67% ในประเทศไทย ระบุว่าพวกเขาสนใจใช้บริการดังกล่าว และพบว่าบริการด้านการนัดหมายเพื่อพบแพทย์ทั่วไปและการดูแลด้านสุขภาพจิต ถือเป็นบริการที่เป็นที่นิยมมากที่สุด

ในปีนี้ เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ในการเคลื่อนตัวเข้าสู่โลกแห่งยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว รวมถึงจำนวนการนัดหมายผ่านบริการสุขภาพเสมือนจริงของลูกค้าซิกน่าทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงได้ตัดสินใจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Telemedicine หรือ แอปพลิเคชั่นพบแพทย์ออนไลน์ ‘Doctor Anywhere’ เข้ามาเสริมทัพในด้านการให้บริการ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกค้าของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้น แพลตฟอร์มนี้ยังจะช่วยให้ลูกค้าของเราสามารถเข้าถึงคำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญได้อย่างไร้กังวลแม้จะอยู่ในช่วงภาวะวิกฤตก็ตาม เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป คุณธีรวุฒิ กล่าวเสริม

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยใช้แบบสำรวจทางออนไลน์ โดยผู้ตอบแบบสำรวจได้รับการคัดเลือกจากฐานสมาชิกผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ที่ผ่านการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด ขณะที่ อายุ วัย และโควต้าเมืองที่อาศัย ถูกกำหนดให้ใช้ตามสัดส่วนของประชากรในตลาดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 10 มกราคม ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 และในระหว่างวันที่ 22-27 เมษายน 2563 โดยมีการสัมภาษณ์ทางออนไลน์ทั้งสิ้น 8,983 คนในเดือนมกราคม และ 1,221 คนในเดือนเมษายน ภายใน 8 ประเทศ (ประกอบด้วยประเทศจีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, สเปน, ไทย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) และแบบสำรวจใช้เวลาทำ 20-25 นาทีโดยไม่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ร่วมทำแบบสำรวจ