NIA ตอกย้ำความสำเร็จ เปิดหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (Chief City Innovation Officer: CCIO) รุ่นที่ 2 สร้างเครือข่ายผู้บริหารมืออาชีพ เสริมศักยภาพผู้นำให้พร้อมต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศด้วยเมืองแห่งนวัตกรรม

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากการเปิดหลักสูตร ผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (Chief City Innovation Officer: CCIO) รุ่นที่ 1 เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้นำองค์กร ผู้บริหารจากทางภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายในการพัฒนาเมืองร่วมกันของกลุ่มผู้บริหาร รวมถึงการแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ในด้านของการบริหารและการมีส่วนร่วมในการบริหารเมืองให้กลายเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างนวัตกรรมให้เข้ากับคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมในพื้นที่เมืองต่างๆ ของประเทศไทยที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในระดับผู้นำที่สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจในนวัตกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศในทิศทางของความก้าวหน้า ยกระดับให้เมืองต่างๆ เป็น “เมืองแห่งนวัตกรรม” จึงได้เปิดหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (Chief City Innovation Officer: CCIO) รุ่นที่ 2 ขึ้น

สำหรับหลักสูตรในปีที่ 2 นี้จะเป็นการต่อยอดความรู้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร พัฒนาทักษะการวางแผนยุทธศาสตร์ โดยยังคงเนื้อหาด้านการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาเมืองในบริบทของพื้นที่นวัตกรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน และเชื่อมโยงความร่วมมือการพัฒนาระหว่างหน่วยงานหรือกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นกลุ่มผู้บริหารระดับสูง (C-Level) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง (City/Urban Development) ใน 6 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ภาครัฐ (Public Sector) ภาคการพัฒนา (Developer) ภาคการลงทุน (Investor) ภาคการศึกษา (Academic) ภาคการบริการสาธารณะ (Service Provider) และภาคประชาสังคม (Social Civic)

“หลังจากจบหลักสูตรในรุ่นที่ 1 ไป มีผู้บริหารหลายรายที่สามารถนำองค์ความรู้ด้านการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง รวมถึงต่อยอดเครือข่ายการพัฒนาเมืองไปปรับใช้เป็นผลสำเร็จ เกิดการรวมกลุ่มสร้างกฎบัตรการพัฒนาเมืองในพื้นที่เมืองสำคัญต่าง ๆ ขึ้น เช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร

การเกิดขึ้นใหม่ของบริษัทพัฒนาเมืองในจังหวัดที่สำคัญ ล้วนเป็นตัวชี้วัดที่เห็นว่าหลักสูตรในปีที่ผ่านมาได้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาเมืองในรูปแบบความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง สำหรับการเปิดหลักสูตรในรุ่นที่ 2 นี้ ก็ได้เพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นทั้งการปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาที่เป็นหัวใจหลักของการอบรม การนำกรณีศึกษาซึ่งเป็นประเด็นใหม่ ๆ ที่น่าสนใจในการพัฒนาเมืองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงเพิ่มเติมการพัฒนาโครงการในการบริหารเมืองผ่านการทำ workshop เพื่อหวังจะให้เป็นโครงการเพื่อนำไปใช้เป็นโมเดลในการพัฒนาเมืองได้จริง ซึ่งในรุ่นที่ 2 นี้ คาดว่าจะมีกลุ่มผู้บริหารระดับสูงที่สนใจเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรดังกล่าวไม่น้อยกว่า 30 ราย” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

สำหรับหลักสูตรในรุ่นที่ 2 จะยังคงเนื้อหาความรู้จริงจากผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นการร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการนำเอานวัตกรรมไปปรับใช้ในการพัฒนาเมืองสู่การพัฒนาประเทศต่อไป โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น City of Innovation : DiverCity ที่จะกล่าวถึงภาพในการพัฒนาเมืองที่มีความหลากหลาย, UrbanTech for City Transformation เทคโนโลยีด้านเมืองที่จะเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาเมือง, Innovative City for Aging Society การวางแผนเมืองเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ, Blockchain Technology for Transparency Procurement การนำเทคโนโลยีโครงข่ายมาใช้ในการเก็บข้อมูล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดพาผู้เข้าอบรมร่วมศึกษาดูงานภายในประเทศกับหัวข้อ Data Science for Innovative City ณ จังหวัดภูเก็ต และการศึกษาดูงานต่างประเทศในงาน Smart City Expo World Congress ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งจะมีกำหนดจัดอบรมตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 7 ธันวาคม 2562 ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ [email protected] หรือ www.nia.or.th/ccio