“ห้องสมุด” ถือเป็นคลังความรู้ที่ไม่มีวันหมดหรือสูญสิ้นไป อันจะเห็นได้จากทุกประเทศทั่วโลกต่างก็มีหอสมุดที่พร้อมสรรพด้วยทรัพยากรความรู้หลากรูปแบบ มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการสืบค้นจำนวนมาก อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศกระตุ้นการเรียนรู้ ไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ สะท้อนให้เห็นจากหลักคิดหรือไอเดียของผู้นำความคิดหรือนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลก ต่างก็มาจากห้องสมุดคุณภาพ อาทิ ห้องสมุดแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศอังกฤษ ที่ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพระดับโลก ห้องสมุดด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงด้านกฎหมายเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ฯลฯ เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มีห้องสมุดมาตรฐานระดับโลก จัดตั้งอยู่ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พร้อมจุดประกายไอเดียและเติมเต็มความรู้แก่นักศึกษา รวมถึงผู้ใช้บริการทั่วประเทศในการสืบค้นและเรียนรู้ทั้ง 4 แคมปัส
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายในการพัฒนาห้องสมุดทั้ง 4 ภูมิภาคให้เป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะด้าน ที่มีความโดดเด่นและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ “หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เป็นคลังความรู้คุณภาพ เป็นแหล่งกำเนิดหลักคิดหรือไอเดียสร้างสรรค์แปลกใหม่ ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการสืบค้นหลากรูปแบบ สู่การเติมเต็มความรู้ของนักศึกษาและประชาชนโดยรอบ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- หอสมุดปรีดี พนมยงค์ : แหล่งรวมหนังสือมรดกล้ำค่าของชาติ
หอสมุดชั้นใต้ดินแห่งแรกของไทย ณ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ด้วยพื้นที่กว่า 11,460 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 3 ชั้น เป็นแหล่งรวบรวมหนังสือหายากล้ำค่า มรดกความรู้ของชาติ อย่างต้นฉบับตัวเขียน พงศาวดาร หนังสือจัดพิมพ์ในวาระโอกาสพิเศษ หนังสืออนุสรณ์งานศพบุคคลสำคัญของไทย หนังสือแบบเรียนด้านกฎหมายในอดีต ฯลฯ ที่ในปัจจุบันไม่สามารถหาซื้อหรือหาอ่านจากที่อื่นได้ และยังมีทรัพยากรสารสนเทศ รวมกว่า 300,000 รายการ เพื่อการศึกษาทั้งในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์และการเมือง ฯลฯ นอกจากนี้ ภายในหอสมุดยังมีหนังสือต่างประเทศกว่า 100,000 รายการ ทั้งภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส ฯลฯ และสื่อมัลติมีเดียกว่า 21,000 รายการ ที่พร้อมให้บริการแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้นั่งอ่านหนังสือ และค้นคว้าสื่อประเภทต่างๆ กว่า 1,300 ที่นั่ง
- หอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ : โดดเด่นด้วยพื้นที่ฟรีสไตล์ รองรับการเรียนรู้หลากรูปแบบ
ห้องสมุดขนาดใหญ่และโดดเด่นด้วยพื้นที่กว่า 18,700 ตารางเมตร ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 ณ ศูนย์รังสิต เพื่อรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยและกระจายการศึกษาสู่ปริมณฑล โดยมุ่งส่งเสริมและกระตุ้นการเรียนรู้แก่นักศึกษา รวมถึงประชาชนโดยรอบ ด้วยการจัดแบ่งพื้นที่และบรรยายกาศของห้องสมุด ที่สามารถเลือกพื้นที่นั่งอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมได้ตามต้องการ ทั้งนี้ ในแต่ละวันมีนักศึกษาหมุนเวียนมาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 3,000 – 4,000 คน
- ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง : แหล่งเรียนรู้ทันสมัยแห่งใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือ
ห้องสมุดที่พร้อมสรรพด้วยหนังสือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยอีกแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ถูกจัดสร้างขึ้น ณ ศูนย์ลำปาง ในปี 2540 และด้วยนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มุ่งขยายความรู้สู่พื้นที่ภาคเหนือ สร้างความเท่าเทียมแก่เยาวชนในพื้นที่ด้านการค้นคว้าความรู้เช่นเดียวกับเยาวชนในกรุงเทพฯ พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากคุณบุญชู ตรีทอง จึงได้จัดสร้างอาคารนวัตกรรมบริการและเปิดพื้นที่ชั้น 2 และ 3 ให้เป็นพื้นที่บริการห้องสมุดบุญชู ตรีทองแห่งใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งภายในพื้นที่รวม 2 ชั้น มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง และทรัพยากรสารสนเทศที่ให้บริการกว่า 82,000 รายการ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุม ทั้งในด้านกฎหมาย วิทยาการคอมพิวเตอร์ และสาธารณสุขเพื่อชุมชน ฯลฯ ที่สามารถนำไปผสมผสานหรือประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้หลากรูปแบบ ทั้งการยกระดับสินค้า พัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้เสริมแก่วิสาหกิจชุมชน รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายแก่ชุมชน เพื่อป้องกันการโดนละเมิดลิขสิทธิ์สินค้า อันเนื่องมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขับเคลื่อนภายใต้นโยบายการพัฒนานวัตกรรมและบริการด้วยมาตรฐานเดียวกันทั้ง 4 แคมปัส เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ การวิจัยของนักศึกษาในทุกที่ทุกเวลา อาทิ “ระบบค้นหาแบบ Single Search ที่สามารถค้นทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด และห้องสมุดเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ” ระบบการยืมระหว่างห้องสมุดออนไลน์ ที่สามารถส่งคำขอใช้บริการ และตรวจสอบสถานะการใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึง “แหล่งเรียนรู้ด้านวิศวฯยานยนต์แห่งภาคตะวันออก” ณ ห้องสมุดศูนย์พัทยา ที่พร้อมเปิดมุมมองการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมซอฟแวร์ และระบบการสั่งการด้วยเทคโนโลยีจำนวนมาก เพื่อรองรับการขยายตัวของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรและโสตทัศนศึกษา หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-613-3506 เว็บไซต์ https://library.tu.ac.th หรือติดต่องานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 เว็บไซต์ www.tu.ac.th หรือ