คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัว “ไกก้อน-มาริโมะเมืองไทย” นวัตกรรมสาหร่ายทรงกลมพันธุ์ไทยครั้งแรก ที่ได้รับการดัดแปลงรูปแบบจาก 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ “เซลล์สาหร่ายไกในระยะพัก” และ “สารขึ้นรูป” มาทำปฏิกิริยาและสร้างโครงข่ายร่วมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม และขึ้นรูปทรงสวยงามใน 2-3 สัปดาห์ มาพร้อมคุณสมบัติช่วยดูดซับสารเคมีในแหล่งน้ำในกลุ่มของโลหะหนัก ฟอสเฟต และไนเตรต ซึ่งล้วนแล้วก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามาถ ใช้ตกแต่งตู้ปลา และเป็นอาหารของสัตว์ โดยที่ไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างเพิ่มเติมในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ทีมนักวิจัย ยังสามารถตรึงสาหร่ายไกให้ขึ้นรูปเป็น “ทรงโดม” ที่มีคุณสมบัติและความสามารถพิเศษเช่นเดียวกับไกก้อน เพื่อสะท้อนถึง ‘ตึกโดม’ อัตลักษณ์อันโดดเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หากรัฐเดินหน้าหนุนการผลิตไกก้อนจำนวนมาก จะช่วยเร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำให้มีคุณภาพและสะอาดยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับมูลค่า “สาหร่ายไก” สู่พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้ คณะฯ ได้จัดพิธีเปิดตัว เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องกระจก ชั้น 1 อาคารบรรยายรวม 5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต
รศ.ดร.สุเปญญา จิตตพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสาหร่ายและแพลงก์ตอน กล่าวว่า ทีมนักวิจัย คิดค้นและพัฒนา “ไกก้อน” มาริโมะเมืองไทย นวัตกรรมสาหร่ายทรงกลมพันธุ์ไทยครั้งแรก ที่ได้รับการดัดแปลงรูปแบบจาก 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ “เซลล์สาหร่ายไกในระยะพัก” (Resting Stage) และ “สารขึ้นรูป” (Alginate) มาทำปฏิกิริยาและสร้างโครงข่ายร่วมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม และขึ้นรูปเป็นทรงกลมพร้อมบรรจุขวดทดลองและบิกเกอร์ที่มีอาหารเลี้ยงเชื้อสาหร่าย ขนาด 250 และ 500 มิลลิลิตร ขึ้นกับขนาดของบอลสาหร่ายจากนั้นตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิและมีแสงสว่างเหมาะสม เพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น สาหร่ายจะจับตัวเป็นก้อนกลม และมีขนยาวสวยพร้อมใช้งานทันที ทั้งนี้ “สาหร่ายไก” (Cladophora) ถือเป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวสายพันธุ์ไทย ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืด ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำไหล และน้ำนิ่ง ในระดับความลึกไม่เกิน 1 เมตร โดยจะมีลักษณะเป็นเส้นสายขนาดยาว มีผิวสัมผัสลื่น จับตัวกันเป็นแพสีเขียว และไม่สวยงาม
ซึ่ง “ไกก้อน” ถือเป็นการต่อยอดจุดเด่นของสาหร่ายไก ให้เป็นพืชน้ำรูปแบบใหม่ที่สามารถดูดซับสารเคมีในแหล่งน้ำ ควบคู่ไปกับใช้ตกแต่งตู้ปลา และเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ที่สามารถปรับตัวเข้ากับในสภาพอากาศของไทยได้เป็นอย่างดี จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีศักยภาพทั้งในแง่ของการเป็นตัวช่วยดูดซับสารเคมีในแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดังนั้น หากผลการทดสอบและพัฒนาประสิทธิภาพเรียบร้อยแล้ว “ไกก้อน” จะสามารถดูดซับสารเคมีที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ จากทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรได้ อาทิไนเตรต ฟอตเฟส รวมถึงโลหะหนักบางชนิด โดยไม่กระทบสัตว์น้ำหรือทิ้งสารพิษตกค้างเพิ่มเติมในสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าว ใช้ระยะเวลาในการศึกษาวิจัยและพัฒนา เป็นเวลากว่า 1 ปี โดยมี รศ.ดร.เทพปัญญา เจริญรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ เป็นที่ปรึกษาร่วม ผศ.ดร.สุเปญญา กล่าว
ด้าน นายราเมศ จุ้ยจุลเจิม นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ทีมวิจัยนวัตกรรมสาหร่าย
“ไกก้อน” มาริโมะเมืองไทย กล่าวเสริมว่า “ไกก้อน” มีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก หากได้รับการพัฒนาและผลิตให้มีปริมาณเพียงพอต่อแหล่งน้ำเสีย จะสามารถช่วยบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และยกระดับ “สาหร่ายไก”
สู่พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศไทยได้ในอนาคต ทั้งนี้ ในอนาคตเตรียมพัฒนาคุณสมบัติการดูดซับสารเคมีให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้นเพื่อวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ทีมนักวิจัย ยังสามารถตรึงสาหร่ายไกให้ขึ้นรูปเป็น “ทรงโดม” ที่มีคุณสมบัติและความสามารถพิเศษเช่นเดียวกับไกก้อน เพื่อสะท้อนถึง ‘ตึกโดม’ อัตลักษณ์อันโดดเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบสารเคมีเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำทั้ง 7 สายหลักของไทย ประกอบด้วย แม่น้ำท่าจีน เจ้าพระยาตอนบนและล่าง น้ำพอง บางปะกง แม่กลอง และทะเลสาบสงขลา จากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม โดยรอบจำนวน 68 โรง จากจำนวนโรงงานที่ผ่านการตรวจสอบแล้วทั้งหมด 1,044 โรง (ที่มา: กระทรวงอุตสาหกรรม, 2560)
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาสังคมในทุกมิติ จึงมีนโยบายส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เพื่อบ่มเพาะทักษะให้แก่นักศึกษา ผ่านภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) และใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) สู่งานวิจัยที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่สามารถช่วยแก้ปัญหา และยกระดับคุณภาพสังคมไทย ได้หลากหลายด้าน อาทิ นวัตกรรม “ถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน” เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชมพู่ส่งออกให้มีสีแดงสม่ำเสมอ เนื้อแน่นกรอบ และรสชาติหวานขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ นวัตกรรมขี้เส้นยางพารา เพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่ชาวสวนยาง และลดการนำเข้าคาร์บอนจากต่างประเทศในการพัฒนาเหล็กกล้า ฯลฯ ทั้งนี้ งานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ล้วนมีศักยภาพในการใช้งานได้จริง และต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ อันสะท้อนยุทธศาสตร์คณะในการพัฒนานักศึกษา สู่ “นักวิทย์คิดประกอบการ” (SCI+BUSINESS) อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้จัดพิธีเปิดตัว “ไกก้อน” มาริโมะเมืองไทยครั้งแรก กับสาหร่ายพันธุ์ไทยแท้ที่มีความสามารถในการดูดซับสารพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติ และตกแต่งตู้ปลาเพื่อความสวยงาม เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องกระจก ชั้น 1 อาคารบรรยายรวม 5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ โทรศัพท์ 02-564-4440 ต่อ 2452 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 02-564-4491 ต่อ 2020 เฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat และเว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th