สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ร่วมกับองค์กร Career Visa Thailand จัดกิจกรรม “FOUNDER APPRENTICE” กิจกรรมจับคู่นิสิต นักศึกษา และผู้ที่จบการศึกษาใหม่ กับกลุ่มผู้ประกอบการด้านธุรกิจนวัตกรรม 22 แห่ง เพื่อให้ได้ทดลองทำงานจริง ตลอดจนได้ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะนวัตกรรมและสตาร์ทอัพอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ยังได้เปิดยุทธศาสตร์ “สตีม ฟอร์ อินโนเวเตอร์” เพื่อบ่มเพาะศักยภาพและนำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ประกอบอาชีพในอนาคต
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA ได้ร่วมกับองค์กร Career Visa Thailand จัดกิจกรรม “FOUNDER APPRENTICE” กิจกรรมจับคู่นิสิต นักศึกษา และผู้ที่จบการศึกษาใหม่ 30 ราย กับกลุ่มผู้ประกอบการด้านธุรกิจนวัตกรรม 22 แห่ง เพื่อให้ได้ทดลองทำงานจริง ตลอดจนได้ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะนวัตกรรมและสตาร์ทอัพอย่างเข้มข้น โดยผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้พัฒนาทักษะตามความถนัดหรือความสนใจ อาทิ การวางแผนทำตลาด การออกแบบแอปพลิเคชั่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภค ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วม ยังจะได้เรียนรู้หลักสูตรและเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานจริงในโลกปัจจุบันที่หาไม่ได้จากห้องเรียนทั่วไป เช่น เทคนิคการเจรจาต่อรองธุรกิจ การทำแคมเปญการตลาดจากผลิตภัณฑ์จริง กระบวนการคิดเชิงออกแบบ ซึ่ง NIA มั่นใจว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้ จะเป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่จะทำให้กลุ่มเยาวชนไทยมีความพร้อมด้านนวัตกรรม เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างกัน และยังทำให้มีความมั่นใจในการเลือกประกอบอาชีพในอนาคตได้มากขึ้น
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ “สตีม ฟอร์ อินโนเวเตอร์” (STEAM 4 INNOVATOR) การบ่มเพาะศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม และการนำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ประกอบอาชีพของแต่ละบุคคลในอนาคต ด้วยการใช้พื้นฐานของ “STEAM” 5 องค์ความรู้ที่สำคัญจากวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) ศิลปศาสตร์ (Arts) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ที่เป็นกระบวนการช่วยให้กลุ่มเยาวชนในทุกระดับเติบโตในสายอาชีพด้านนวัตกรรมได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น นอกจากนี้ แนวคิด STEAM ยังเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการเพิ่มมูลค่าของภาคธุรกิจและการบริการโดยเฉพาะในยุค Age of Disruption ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้การส่งเสริมทักษะและการปฏิบัติการด้านดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง NIA ยังได้เตรียมกระบวนการ 4 ขั้นเพื่อปลูกฝังศักยภาพทางด้านธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชน ได้แก่
- กระบวนการ STEAM + Insight การสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมจากความชอบ ด้วยการรับรู้สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ สร้างจินตนาการเหนือความรู้พื้นฐานและวิชาการ ทำให้มองเห็นปัญหาและการแก้ไขจากมุมมองใหม่ เส้นทางใหม่ และการเข้าถึงความคิดใหม่ๆ และสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะคิดไอเดียมาต่อยอดเป็นธุรกิจที่สร้างคุณค่า
- กระบวนการ Wow Idea การต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ กำหนดปัญหาและเป้าหมายในการแก้ไขที่ชัดเจน เพื่อให้ได้คำตอบใหม่ที่แตกต่าง สร้างสรรค์ ทำได้จริง และมีคุณค่าเป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้
- กระบวนการ BIZ ANALYSIS / BIZ MATCHING /PROTOTYPING การออกแบบแนวคิดและแผนบริหารจัดการทั้งหมด ซึ่งจะเกี่ยวข้องทั้งการเชื่อมโยงคน เทคโนโลยี ทรัพยากร และความหลากหลายไปสู่เป้าหมายที่ทำได้จริง พร้อมทั้งโอกาสในการรับคำแนะนำจากผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรร
กระบวนการ PRODUCTION & DIFFUSION การลงมือสร้างสรรค์และการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมออกสู่ตลาด
ปัจจุบันการสนับสนุนให้เยาวชนมีความสามารถในการคิดค้นและวิจัยอาจยังไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ และบริบทต่างๆที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคม NIA จึงมีนโยบายในการผลักดันงานวิจัยและองค์ความรู้ต่างๆเหล่านั้นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศในแต่ละด้านได้จริงรวมถึงการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพในการรับมือกับตลาดงานในยุคใหม่ที่จะต้องปรับตัวให้เข้าถึงปัญหาอย่างตรงจุด พร้อมมุ่งสู่การเป็น “นักนวัตกรรม” ที่ในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นอาชีพใหม่ที่สำคัญ และเป็นสาขาที่ตลาดโลกมีความต้องการมากขึ้น ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการ เยาวชน หรือผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand