ในวันนี้ ( 23 ก.ค. 61) เวลา 10.00 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ สำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) บ้านละทาย จังหวัดศรีสะเกษ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด พม. โดยมีการตรวจเยี่ยม รับฟังรายงานสถานการณ์ทางสังคม และติดตามผลการดำเนินงาน พร้อมมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานในพื้นที่อย่างบูรณาการให้กับทีม พม. (One Home) จังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ
การลงพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เห็นถึงศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ฯ ที่มีทั้งหมด 7,079 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวง พม. กำกับดูแลการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี (พมจ.อุบลฯ) ดำเนินงานโดยชาวชุมชนบ้านละทายและมีประธาน ศพค. คือ นายสวัสดิ์ ธนะศรี ซึ่งศูนย์ดังกล่าวดำเนินโครงการสำคัญ คือ การลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นแบบบูรณาการ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ด้วยการใช้กลไกความร่วมมือชุมชนบ้านละทายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม คือ 6 ห่วง 3 ประการ ประกอบด้วย
1) 6 ห่วง ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบลละทาย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลละทาย โรงพยาบาลกันทรารมย์เด็กและเยาวชน
2) 3 ประการ ได้แก่ การป้องกัน/ป้องปราม การแก้ไข และการฟื้นฟู
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เนื่องจากไม่พบว่า มีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นในพื้นที่ตำบลละทาย อีกทั้ง ยังได้พบปะประชาชนกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. จำนวนกว่า 500 คน ซึ่งเป็นกลุ่ม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม อีกด้วย
นอกจากนี้ รมว.พม. พร้อมคณะ ได้เยี่ยมเยียนศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่สังกัด สค. ซึ่งมีภารกิจสำคัญ อาทิ
1) สงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพแก่กลุ่มเป้าหมาย
2) ประสานการปฏิบัติงานกับทีมสหวิชาชีพในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู
3) ให้ความรู้ ฝึกอบรมการพัฒนาอาชีพ และประสานการปฏิบัติงานกับองค์กรภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่
4) พัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ด้านการพัฒนาอาชีพ
5) ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสตรีและครอบครัวในสถาบันและชุมชน
โดย ภายในศูนย์ฯ มีศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพ ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทอฝัน by พม. และมีศูนย์เรียนรู้ครอบครัวและนวัตกรรมชนเผ่า 4 ชนเผ่า คือ เผ่าเขมร เผ่าลาว เผ่าเยอ และเผ่าส่วย เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยผลิตภัณฑ์ของชนเผ่าจากวิถีชีวิตพื้นบ้านสู่งานอาชีพอย่างทันสมัย ซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กลุ่มสตรีและครอบครัวมีรายได้ที่มั่นคง ด้วยการส่งเสริมฝึกอาชีพ ได้แก่ การออกแบบแฟชั่น การทอผ้า การปักแซว และการจักสาร โดยศูนย์ฯ มีสวัสดิการให้ผู้รับการฝึกอาชีพ และไม่เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอาชีพ มีบริการที่พักและอาหารฟรี 3 มื้อ ตลอดจนมีการจัดหางานหลังสำเร็จการฝึกอาชีพให้อีกด้วย
ทั้งนี้ รมว.พม. ได้มีการประชุมเพื่อมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานในพื้นที่อย่างบูรณาการให้กับทีม พม. (One Home) จังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ โดยได้เน้นย้ำถึงการบูรณาการความร่วมมือในพื้นที่ ตามแนวทางประชารัฐทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อช่วยเหลือและประสานส่งต่อกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความเข้มแข็งในการเป็นศูนย์กลาง ด้วยการกำหนดนโยบายทีม One Home หรือ Model ในการทำงานในพื้นที่ หรือ แผนพัฒนาภาค เพื่อเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ ที่มุ่งเน้นการประสานงานด้วยความรวดเร็ว ลดขั้นตอนด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร และให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 เป็นช่องทางให้ประชาชนผู้ประสบปัญหาสังคมเข้าถึงการให้บริการสวัสดิการของภาครัฐ โดยเน้นการทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ สามารถเข้าถึงผู้ประสบปัญหาในภาวะวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีการใช้ข้อมูลแผนที่ทางสังคม (Social Map) และฐานข้อมูลอื่นๆ รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจำเป็นต้องดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ