กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอนห์นสัน (ไทย) จํากัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ “โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียน เพื่อพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบองค์รวม” จึงจัดประชุมวิชาการนานาชาติกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหัวข้อเรื่อง “Working Together, Delivering a Better Future for Mental Health Patients” เพื่อเผยแพร่วิทยาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลรักษาโรคทางจิตเวช และนําไปประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น โดยงานประชุมดังกล่าวมี ผู้กำหนดนโยบาย จิตแพทย์ พยาบาลทางด้านจิตเวช รวมถึงกลุ่มผู้ป่วย 70 คน จาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมงาน
สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ประสบปัญหาด้านจิตประสาทและอารมณ์ โดยเฉพาะโรคจิตเภท (schizophrenia) ปัจจุบันประชากรของประเทศในกลุ่มอาเซียนกว่า 1 ล้านคน จาก 650 ล้านคนป่วยเป็นโรคจิตเภท ขณะที่คนไทยอย่างน้อย 400,000 คน ป่วยโรคดังกล่าวเช่นกัน วาระหลักของงานประชุมฯ ปี 2562 ให้ความสำคัญกับโรคจิตเภท และช่องว่างในการรักษาผู้ป่วย โดยมุ่งเน้นไปในการนำข้อมูลการรักษาที่เกิดจากการใช้จริง (real-world evidence) มาใช้พัฒนาการตัดสินใจด้านสาธารณสุข และมุ่งเน้นไปถึงการพัฒนาประสบการณ์ของผู้ป่วยผ่านการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต “กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญในการรักษาโรคจิตเภท โดยมีการให้ความรู้ในเชิงลึก ดำเนินงานเชิงรุก ลงพื้นที่ไปสู่ชุมชน เพื่อช่วยแก้ไขข้อความเข้าใจผิดและตราบาปที่เกิดขึ้นกับคนไข้จิตเภท งานประชุมวิชาการนานาชาติกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เชิญจิตแพทย์จากทั่วภูมิภาคเพื่อระดมสมองในการแก้ไขปัญหา สำหรับประเทศไทยสามารถนำผู้ป่วยจิตเภทเข้ามารับการรักษา 83% ปัจจุบันระบบสาธารณสุขได้รับการพัฒนาให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีระบบค้นหา ติดตามการรักษา พัฒนาระบบบริการไม่ให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกแปลกแยก โดยผู้ป่วย สามารถใช้สิทธิ์การรักษาทุกสิทธิ์ในโรงพยาบาลของกรมสุขภาพจิตที่ให้บริการ 20 โรง คนไข้ที่ได้รับการรักษาส่วนใหญ่จะหายและมีอาการดีขึ้น แต่เมื่อกลับไปบ้านหรือชุมชนอาจขาดยาเป็นส่วนใหญ่ และสังคมขาดความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย การเตรียมชุมชนเพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยนั้นสำคัญมากเพื่อไม่ให้เขากลับมาเป็นซ้ำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าปัจจัยทางชีวภาพการเปลี่ยนแปลงของเคมีในสมองเกี่ยวข้องกับการป่วยโรคจิตเภท จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยยาเพื่อให้อาการทุเลาและเพื่อป้องกันอาการกำเริบ ปัจจุบันการรักษาโรคจิตเภทก้าวหน้าไปมาก เรามียาหลายตัวและผู้ป่วยส่วนมากตอบสนองดีกับยา ปัญหาหลักๆคือ ผู้ป่วยไม่รับการรักษาให้ต่อเนื่อง (รวมถึงการกินยาไม่สม่ำเสมอ) และความลำบากในการกลับคืนสู่สังคม
ผู้ป่วยจิตเภทจำเป็นต้องรับการรักษาต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโรคลมชัก หรือความดันโลหิตสูง บางคนเข้าใจว่าอาการดีแล้วไม่จำเป็นต้องกินยา กังวลเรื่องผลข้างเคียงของยา และรู้สึกอายที่จะเข้ารับการรักษา การไม่รับการรักษาอย่างต่อเนื่องทำให้อาการกำเริบและรักษายากยิ่งขึ้นเนื่องจากการตอบสนองต่อยาอาจไม่ดีเหมือนเดิม ปัจจุบันมียาฉีดที่ช่วยให้มียาอยู่ในร่างกายนานเป็นเดือนคล้ายๆ ยาคุมกำเนิด ก็ช่วยลดปัญหาการกินยาไม่ต่อเนื่องหรือลืมกินยาบางมื้อ
ในด้านสังคมแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการทุเลาแล้ว แต่สังคมยังมีความรู้สึกลบต่อโรคจิตเภททำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งกลับเข้าสู่สังคมได้ยาก ผู้ป่วยจิตเภทที่ป่วยเป็นเวลานานอาจจะมีทักษะทางสังคม และความสามารถในการคิดลดลงได้ ส่งผลต่อการกลับไปใช้ชีวิต แต่สามารถฟื้นฟูได้ด้วยความช่วยเหลือจากบุคคลากรทางการแพทย์ ปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการทำความเข้าใจกับสังคมถึงตัวโรคว่าปัจจุบันมีการรักษาที่ดีขึ้นสามารถทำให้ผู้ป่วยอาการดีได้ ในขณะเดียวกันผู้ป่วยและญาติก็ต้องร่วมมือในการรักษา
นอกจากนี้ ขอสังคมเข้าใจว่าปัจจุบัน คนไทย 70 ล้านคน ป่วยเป็นโรคจิตเภทแล้วอย่างน้อย 400,000 คน ซึ่งเราไม่สามารถกันคนเหล่านี้ออกจากสังคม วิธีที่ดีคือความเข้าใจและเห็นใจเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผู้ป่วยเมื่อรับการรักษาต่อเนื่องอาการก็จะดีอยู่ร่วมกันได้ และบางรายก็สามารถทำงานได้ ส่วนคนที่อาการไม่ดีก็ให้ช่วยกันพามารักษาแต่เนิ่นก็จะได้คนที่อาการดีกลับไป เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการรักษาและดูแลผู้ป่วย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอนห์นสัน (ไทย) จํากัด ได้จัดทำหนังสือให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ญาติหรือบุคคลทั่วไป โดยสามารถดาวน์โหลดไปอ่านได้ฟรี ที่ facebook page ของสมาคมฯ https://th-th.facebook.com/ThaiPsychiatricAssociation
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ กล่าวว่า “ไม่อยากให้สังคมรังเกียจผู้ป่วย อยากให้มองว่า ผู้ป่วยจิตเวชก็คือคนปกติ เพียงแต่เขาป่วยเหมือนโรคที่วไป เช่น ป่วยโรคหัวใจ ความดัน เพียงแค่เค้าป่วยเป็นอาการทางจิตและควรได้รับการรักษาให้หาย ทุกคนควรเข้าใจไม่แบ่งแยกพวกเขาออกจากสังคม นอกจากนี้ สังคมสามารถมีส่วนช่วยลดอคติหรือตราบาปให้กับผู้ป่วยได้เช่นกัน เช่น การลดตราบาปผ่านสื่อ สามารถทำได้ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เอามาล้อเล่น หรือใฝ่รู้ หาข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อทำความเข้าใจ ไม่ล้อเลียน ให้เกียรติความเป็นมนุษย์ อยากให้กำลังใจผู้ป่วยและญาติในการจับมือกันฟันฝ่าความเจ็บป่วยด้วยกันเพื่อให้สามารถกลับมาอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ”
4 วิธี ดูแลผู้ป่วยจิตเภท
- ญาติใกล้ มีญาติคอยดูแล ใช้ครอบครัวบำบัด พร้อมพูดคุยแบ่งปันความรู้สึกแก่กันได้ และสังเกตอาการเตือนของผู้ป่วยก่อนนำเข้าพบแพทย์
- ได้ยา การให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น ควรให้ผู้ป่วยได้กินยาอย่างต่อเนื่อง
- มาตามนัด ให้ผู้ป่วยมารักษาอาการตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง ไม่ขาดนัด
- ขจัดยาเสพติด หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด ทั้งสุราและยาเสพติด แม้ว่าธรรมชาติของโรคจิตเภทส่วนใหญ่จะเป็นแบบเรื้อรัง
แต่หากสามารถดูแลให้ผู้ป่วยได้ปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้ จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ไม่มีอาการกำเริบ มีโอกาสหายสูง รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย