สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมภาคีเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ เมืองสุโขทัย และ เมืองกำแพงเพชร ร่วมเดินหน้าพัฒนาพื้นที่เมืองมรดกโลกไทย ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ด้วยโมเดล เฮอริเทจซิตี้แนวทางการพัฒนาและบูรณาการพื้นที่แบบรอบด้าน ใน 4 มิติ 1) การพัฒนาโครงสร้าง 2) การอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ 3) การส่งเสริมการเกษตร และ 4) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ต่อยอดเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากต้นทุนทางวัฒนธรรม พร้อมตั้งเป้ามูลค่าการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 10% ต่อปี

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในระยะที่ผ่านมา ปัจจัยหนุนการเติบโตของตลาดการท่องเที่ยวไทย ได้แก่ ความนิยมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า เพียงครึ่งแรกของปี มีมูลค่าการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยไม่รวมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สะพัดกว่า 515,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการแทรกแซงของระบบทุนนิยมในพื้นที่เหล่านี้ ตลอดจนมีแนวทางส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และแนวทางพัฒนาชุมชนโดยรอบที่ไม่สอดคล้อง หรือส่งผลกระทบเชิงลบซึ่งกันและกัน อาทิ การก่อสร้างอาคารบดบังทัศนียภาพ รูปแบบและสีสันอาคารไม่กลมกลืนกับแหล่งโบราณสถาน การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ อันส่งผลให้ขาดแนวทางการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของชุมชน จนทำให้ขาดบรรยากาศและสุนทรียภาพของเมืองประวัติศาสตร์ เป็นต้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มว่า จากสาเหตุดังกล่าว สจล. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร และอีก 11 สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เริ่มต้นนำร่องโมเดล “เฮอริเทจซิตี้” ในพื้นที่เมืองมรดกโลกของไทยอย่าง สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ที่มีข้อได้เปรียบด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่ โดยใช้รูปแบบการพัฒนาจากล่างขึ้นบน (Bottom-Up) เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการพัฒนา เพื่อการพัฒนาและบูรณาการทั้งองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม โดยยังคงอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างเป็นระบบ

“แนวคิดการพัฒนาทั้งหมดเริ่มต้นจากการศึกษาความต้องการของชุมชนในพื้นที่ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชน ตลอดจนการศึกษาข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ในพื้นที่จริง เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการประชาสัมพันธ์ โดยผสานทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พัฒนาพื้นที่ทั้งระดับโครงสร้างและสังคม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ประจำพื้นที่ อันมีอิทธิพลต่อระบบการท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค”

แนวทางการพัฒนาด้วยโมเดล “เฮอริเทจซิตี้” ครอบคลุม 4 มิติการพัฒนาแบบบูรณาการ ทั้ง 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสังคม อาทิ การพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภคชุมชน เป็นต้น เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ และอำนวยความสะดวกรองรับแก่ประชาชนในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว 2) การอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรม อาทิ การอนุรักษ์พื้นที่โบราณสถาน และการส่งเสริมอัตลักษณ์และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในชุมชน เป็นต้น เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ วิถีความเป็นอยู่ กิจกรรมของชุมชน อันสามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3) การส่งเสริมการเกษตร อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร และ 4) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อาทิ การจัดเทศกาลประจำปี การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การเปิดโฮมสเตย์ (Home Stay) เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกิจกรรมของชุมชนอย่างแท้จริง เป็นต้น

“ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากการศึกษาและเก็บข้อมูลในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ยังเกิดกิจกรรมร่วมกันกับชุมชน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่าง การออกแบบป้าย แผนที่ สัญลักษณ์ประจำชุมชน การออกแบบผลิตภัณฑ์ประจำชุมชน ไปจนถึงการออกแบบบ้านพักอาศัย การออกแบบศาสนสถาน และสิ่งปลูกสร้างในสถาบันการศึกษาในพื้นที่ การจัดเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ‘งานย้อนอดีตศรีสัชนาลัย นุ่งผ้าไทย ใส่เงินโบราณ’ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เผยแพร่และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สัมผัสกับกิจกรรมร่วมกับชุมชน ตลอดจนการประชุมเชิงปฏิบัติการจากทั้งสถาบันการศึกษาในและต่างประเทศ เพื่อวิจัย-แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วัฒนธรรม และแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ในแหล่งมรดกโลก อีกด้วย”

ทั้งนี้ สจล. ภาครัฐ และองค์กรร่วมจัด เชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่มรดกโลกด้วยโมเดล “เฮอริเทจซิตี้” ดังกล่าว จะเป็นแนวทางการพัฒนาและบูรณาการอย่างยั่งยืน ที่สามารถต่อยอดไปยังพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าขยายผลการศึกษา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เชื่อมโยงหน่วยงานพัฒนาศิลปวัฒนธรรมพื้นที่มรดกโลก ในระดับภูมิภาคอาเซียน และพัฒนาศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมรดกโลกกลุ่มอาเซียน (World Heritage Cluster ASEAN) เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรการท่องเที่ยว ในพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป

นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองท่อง ในพื้นที่มรดกโลกเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ได้แก่สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร มุ่งส่งเสริมความโดดเด่น ทั้งด้านของโครงสร้างพื้นฐาน สถาปัตยกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์ การพัฒนาผังเมือง ระบบสาธารณูปโภค เส้นทางจักรยานและถนน การจัดตลาดวัฒนธรรมเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงเมืองประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่วมกับภาคีสถาบันการศึกษากำลังจัดทำแอปพลิเคชันจัดการความปลอดภัย เพื่อดูแลและบริหารระบบผังเมืองและระบบความปลอดภัยในพื้นที่อีกด้วย โดยคาดว่า หากแล้วเสร็จจะทำให้มีนักท่องเที่ยวและรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี จากปัจจุบันที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 4,559 ล้านบาท

นายพิจิตร วัฒนศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า จังหวัดกำแพงเพชร มีนโยบายการบริหารศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ในพื้นที่มรดกโลกอย่างอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โดยรอบ อย่างไรก็ดี กำแพงเพชรเอง ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งการบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในยกระดับการพัฒนาและจัดการเมืองในมิติต่างๆ ความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทั้งภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ได้ร่วมกันหาแนวทางเชิงปฏิบัติ เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ โดยตนเชื่อมั่นว่า การพัฒนา พื้นที่เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ในครั้งนี้ จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวหลักติดอันดับ ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต้องพูดถึง

สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlpr หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111