สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนเดินหน้าสานต่อความร่วมมือโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรค (IPD) หรือโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็ก กลุ่มเสี่ยง ปีที่ 4 รณรงค์ให้ความรู้เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไอพีดี (IPD) พร้อมเรียนรู้การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคอย่างถูกวิธี
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “จากสถิติขององค์การอนามัยโลกพบว่า การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ถึง 2 – 3 ล้านคนต่อปี1 ซึ่งในปัจจุบันยังพบว่าเด็กทั่วโลกจำนวนถึง 19.4 ล้านคน ยังไม่สามารถเข้าถึงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนได้ตามที่ควร2 ซึ่งหากมีการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ด้วยวัคซีนเพิ่มขึ้นอาจสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้อีก 1.5 ล้านคน3 โดยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน ได้รับการยอมรับให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นลดการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก, โรคคอตีบ, ไอกรน, บาดทะยัก, หัด, โรคหัดเยอรมัน, โรคคางทูม, โรคไวรัสตับอักเสบเอ, โรคไวรัสตับอักเสบบี, โรคโปลิโอ, โรคอุจจาระร่วง รวมถึงโรคไอพีดี ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และปอดอักเสบ โดยสามารถแพร่กระจายด้วยการไอจาม”
“ปัจจุบันโรคไอพีดีถือได้ว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยจากสถิติขององค์การอนามัยโลกพบว่า เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูงในเด็กเล็กและในเด็กกลุ่มเสี่ยง มีโอกาสที่จะติดเชื้อนิวโมคอคคัส และเป็นโรคไอพีดีสูงกว่าเด็กปกติได้ถึง 26 เท่า4 โรคไอพีดีเป็นโรคที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเฉพาะหากเชื้อขึ้นไปที่สมอง จะทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบและมีโอกาสเสียชีวิตได้ถึง 50% และถึงแม้จะรอดชีวิตแต่ก็มีความเสี่ยงที่จะพิการได้มากกว่า 605 โรคไอพีดีจึงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กวัย 5 ขวบปีแรกของโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน6 ซึ่งเด็กที่เป็นโรคไอพีดีควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน โดยทั่วไปแล้วเด็กที่ป่วยเป็นโรคไอพีดีต้องนอนรักษาตัวในรพ.
นานกว่า 12 วัน7 บางรายต้องนอนในห้อง ICU จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลค่อนข้างสูง มากกว่า 50,000 บาทต่อครั้งแม้รักษาในรพ.รัฐบาล8 และหากคนไข้ติดเชื้อสายพันธุ์ที่รักษายากหรือเชื้อดื้อยา ค่าใช้จ่ายก็จะยิ่งสูงขึ้น และจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวะนะที่รุนแรงขึ้น ซึ่งมีโอกาสเพิ่มปัญหาเชื้อดื้อยาในสังคม ดังนั้น การสร้างความตระหนัก เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องโรคและการป้องกัน จึงเป็นสิ่งที่สมาชิก ทุกคนในครอบครัวและสังคมควรให้ความสำคัญ”
ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ในฐานะที่เป็นหน่วยงาน องค์กรกลางที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และนักวิชาการ ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน หรือวัคซีนเป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากเป็นจุดมุ่งหมายหลักของมูลนิธิฯ ในการเพิ่มช่องทางการให้ความรู้และการเข้าถึงวัคซีนให้แก่ประชาชน พร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของวัคซีนที่มีต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งวัคซีนยังนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลสุขภาพ และเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรค โดยเฉพาะในวัยเด็กซึ่งเป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันยังทำงานไม่สมบูรณ์ และมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อจากโรคต่างๆ จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ต่อเนื่องไปจนโต นอกจากนี้ วัคซีนยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ สามารถป้องกันโรคติดเชื้อไม่ให้ระบาดในชุมชน และช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล จึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้”
“โดยในปีนี้มูลนิธิฯ ยังคงเดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ในโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีเพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อรณรงค์ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค รวมถึงลดการเสียชีวิตจากโรค และเพื่อเป็นตัวกลางในการส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลที่เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดียังไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งภายในปีนี้มูลนิธิฯ ยังคงรับหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางในการส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศที่เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดียังไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันโรคนี้ได้ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพเด็กเล็กให้ดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคมไทย โดยในปีนี้มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีเพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยงจำนวน 5,000 โด๊ส ให้แก่โรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งโดยในปีนี้โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีนในการบริจาค 2 แห่งด้วยกัน คือ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลกลาง”
ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า “ในอดีตกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินโครงการนำร่องจัดทำโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคไอพีดี หรือ โรคปอดอักเสบในเด็กกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ ในกรุงเทพมหานครได้ดำเนินหลายโครงการเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง และยังคงมุ่งขยายผลการป้องกันในโรคสำคัญต่างๆ ในอนาคตเพื่อลดภาระการดูแลรักษา รวมถึง โรคไอพีดีในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อไป ทั้งนี้ เชื่อว่าการป้องกันโรคด้วยวัคซีนนอกจากเป็นการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนแล้ววัคซีนยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยา (Antimicrobial Resistance หรือ AMR) ให้ประเทศไทยได้อีกด้วย”