ผู้เชี่ยวชาญร่วมสัมมนา เพื่อสร้างความเข้าใจและ
ส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดในประเทศไทย
เมื่อเร็วๆนี้ ผศ. นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ (ที่ 2 จากขวา) อดีตประธานสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ร่วมบรรยายให้ความรู้ในประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติในหัวข้อ “Co-Creation Workshop: Ankylosing Spondylitis” โดยมี (จากซ้ายไปขวา) นพ.กันย์ พงษ์สามารถ ศ.พญ.สุมาภา ชัยอำนวย ทศพล พุ่มมาลา ผู้ป่วยและประธานกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด และนพ.สูงชัย อังธารารักษ์ เข้าร่วมประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจและระดมความคิดเพื่อช่วยพัฒนาสถาณการณ์โรคและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย
บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ได้จัดประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติในหัวข้อ “Co-Creation Workshop: Ankylosing Spondylitis” โดยมีผู้เข้าร่วมงาน 30 คน จากสาขาต่างๆ รวมถึง แพทย์ เภสัชกร ผู้ป่วย สื่อมวลชน ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ผู้แทนบริษัทประกันชีวิต เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ความยากลำบากของผู้ป่วย และระดมความคิดเพื่อช่วยทำให้สถาณการณ์ดังกล่าวดีขึ้น
โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด (Ankylosing Spondylitis) จัดเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลัง มีอาการปวดเรื้องรัง ทำให้เกิดอาการข้อฝืดแข็งบริเวณต้นคอจนถึงสันหลังช่วงล่าง หรือกระดูกสันหลังยึดติดเข้าด้วยกัน โดยอาการเหล่านี้อาจเป็นได้ในระยะเริ่มต้นจนถึงระยะรุนแรง ถึงขั้นทำให้หลังค่อมหรือหลังแข็งได้
ผศ. นพ. กิตติ โตเต็มโชคชัยการ อดีตประธานสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ในประเทศไทยพบว่า หนึ่งในร้อยของประชากรไทย หรืออย่างน้อย 660,000 คน เป็นผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยเจอโรคเฉลี่ยอย่างน้อย 1 ปี หรืออาจยาวนานถึง 10 ปี สาเหตุของการวินิจฉัยที่ล่าช้ามาจาก นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ความรู้เกี่ยวกับโรคต่ำ การขาดความรู้ในการวินิจฉัยโรคข้ออักเสบ การขาดความรู้ในการอ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์เพื่อวินิจฉัยโรค ขาดบุคลากรโรคข้อรูมาตอยด์ ทั้งนี้ การวินิจฉัยและการรักษาในระยะเริ่มต้นนั้นจะช่วยควบคุมความเจ็บปวด ความฝืดแข็งและลดหรือป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ สัญญาณแรกของโรคคืออาการปวดหลังส่วนล่าง แต่จะมีความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดหลังในกลุ่มคนอายุน้อย ปวดจากการไม่ได้ใช้งาน มีอาการปวดต่อเนื่องกว่า 3 เดือน และมีอาการโรคไขข้ออักเสบและม่านตาอักเสบร่วมด้วย วิธีการรักษา มีตั้งแต่ การออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัด การใช้ยารักษาเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และการผ่าตัดเพื่อช่วยให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ซึ่งการประชุมวิชาการนี้ มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจอาการของโรคและแผนในการรักษาโรคเพื่อใช้ชีวิตได้อย่างเข้าใจและมีความสุข”
นพ. กันย์ พงษ์สามารถ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคไขข้อ สถาบันสุขภาพเด็ก กล่าวว่า “อายุของผู้ป่วยที่ต่ำที่สุดคือ 6 ปี คนไข้เด็กจะมีความลำบากในการอธิบายถึงอาการและความเจ็บปวด โรคนี้ก่อให้เกิดภาระในการดำเนินชีวิต แต่ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนหลายคนที่ยังสามารถเรียน หรือทำงานได้ ผู้ป่วยเด็กที่จะต้องเสียโอกาสทางการศึกษาขณะได้รับการรักษา ควรได้รับการชดเชยเพื่อช่วยเป็นหลักประกันให้เขามีอนาคตที่ดี”
ทศพล พุ่มมาลา ผู้ป่วยและประธานกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด กล่าวว่า “โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดถือเป็นโรคเรื้อรัง ผู้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากโรคนี้ สามารถติดตามเฟสบุ๊คกลุ่มผู้ป่วย thaiasclub รับข่าวข่าว แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเราพร้อมที่จะให้การสนับสนุนผู้ป่วยโรคนี้ในทุกเรื่อง”
การประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติในหัวข้อ “Co-Creation Workshop: Ankylosing Spondylitis” จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจถึงความร้ายแรงของโรค การวินิจฉัยโรค วิธีการรักษาโรค ค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมถึงการติดตามผลการรักษาโรค โดยการประชุมในครั้งนี้มีความเห็นตรงกันว่า ควรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ผ่านทางช่องทางต่างๆทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ เผยแพร่แนวทางการรักษาที่ถูกต้อง และจัดทำข้อมูลที่จำเป็นให้แก่แพทย์และผู้ป่วย เพื่อให้ตระหนักถึงโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด ทั้งยังทำให้โรคมีผลกระทบต่อผู้ตัดสินใจและปรับปรุงระบบ AS care โดยความคิดเห็นเหล่านี้จะไปประยุกต์ใช้และส่งไปยังสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางระบบสุขภาพ เพื่อเป็นแผนการพัฒนาต่อไปในอนาคต
ภก. วีรวัฒน์ มีแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และการเข้าถึงยา บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อให้ทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต เพื่อการจัดการนำไปปรับใช้ และรู้วิธีป้องกันโรคนี้ ซึ่งการประชุมวิชาการนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการการสร้างเครือข่าย และเป็นการระดมความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายฝ่าย เรารู้สึกตื่นเต้นที่ผู้ป่วย แพทย์ สื่อมวลชน และผู้มีอิทธิพลทางด้านต่างๆได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และระดมความคิดเห็น เพื่อเป้าหมายในการปรับปรุงการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ให้ดีขึ้น”