สถาบันโรคผิวหนัง ประกาศเปิดตัวแคมเปญ “หยุดตีตรา ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน” หวังกระตุ้นสังคมไทยให้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินมากขึ้น ชี้สะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ หลังพบปัญหาผู้ป่วยมักพบเจอพฤติกรรมแสดงความรังเกียจอย่างชัดเจนจากคนรอบข้างจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตและอาการของผู้ป่วยเอง พร้อมเดินหน้าขยายองค์ความรู้ผ่าน E-Book สำหรับแพทย์และประชาชนทั่วไป
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ยังมีกลุ่มคนที่มีความเข้าใจผิดว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้จึงมักมีพฤติกรรมแสดงความรังเกียจผู้ป่วยให้ได้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นการเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนในสังคมผ่านแคมเปญ “หยุดตีตรา ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน” จึงนับเป็นวาระสำคัญและเป็นโอกาสอันดีต่อการเริ่มต้นสร้างเสริมความเข้าใจในโรคสะเก็ดเงินที่ถูกต้องให้แก่ทุกคนในสังคมไทย หากทุกคนมีความรู้ที่ถูกต้องแล้วอาจไม่เพียงแต่ช่วยสังเกตอาการตนเองหรือคนใกล้ตัวเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไร้ความกังวลและถือเป็นกำลังใจที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอีกด้วย อีกทั้งในปัจจุบันภาครัฐยังได้ให้ความสำคัญในการรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจึงสามารถเข้าถึงการรักษาตามสิทธิ์การรักษาของตนได้ตามสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศไทย เพื่อให้มีอาการที่ดีขึ้นจนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งมีข้อมูลพบว่าหากมีทั้งพ่อและแม่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ลูกมีโอกาสที่จะเป็นโรคมากกว่าคนทั่วไปสูงถึงร้อยละ 41 โดยโรคสะเก็ดเงินจะมีอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ได้แก่ ผื่นแดง นูน ขอบเขตชัดเจน จะมีขุยสีขาวหรือเกล็ดสีเงินปกคลุมอยู่ บางรายเป็นตุ่มหนอง กระจายทั่วร่างกาย ใบหน้า หนังศีรษะ และมีเล็บผิดปกติร่วมด้วย ซึ่งผื่นอาจมีอาการคันและสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต จนหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เพราะกังวลว่าคนรอบข้างจะรังเกียจ นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการข้ออักเสบ ผิดรูปร่วมด้วย และอาจพบร่วมกับโรคอื่นๆ ได้ด้วย เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เบาหวาน ไขมันสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
ในทุกวันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันสะเก็ดเงินโลก เพื่อกระตุ้นให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคสะเก็ดเงิน ที่อาจไม่ใช่โรคที่ไกลตัวอีกต่อไป ดังนั้น สถาบันฯ จึงเห็นถึงโอกาสในการริเริ่มแคมเปญ “หยุดตีตรา ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน” เพื่อกระตุ้นสังคมไทยให้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินมากขึ้นผ่านองค์ความรู้จาก E-Book สำหรับแพทย์และประชาชนทั่วไป และวิดีโอชุด “ผมเป็นโรคสะเก็ดเงินครับ” ที่จะเผยถึงความจริงว่าโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ทุกคนสามารถสัมผัสและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้ตามปกติ
ปัจจุบันประเทศไทยพบมีผู้ป่วยประมาณ 143,291 ราย[1] ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องดูแลสภาพร่างกายตนเป็นพิเศษ แต่ผู้ป่วยยังต้องดูแลสภาพจิตใจของตนเองควบคู่ไปด้วย เนื่องจากผู้ป่วยมักพบกับความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังคิดว่าเป็นโรคติดต่อและแสดงพฤติกรรมรังเกียจออกมา อาทิ การปฏิเสธการให้บริการในร้านนวดแผนไทย ร้านอาหาร หรือร้านเสริมสวย เป็นต้น
[1] ที่มาจากฐานข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประจำปี 2559
การรักษาโรคสะเก็ดเงินในปัจจุบันแม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ประกอบด้วย 4 วิธี ได้แก่ การรักษาโดยการใช้ยาทาภายนอก การฉายแสง การใช้ยารับประทาน และยาฉีด โดยแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมของอาการผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้การดูแลตนเองเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติและช่วยไม่ให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- การพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากภาวะนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอจะมีส่วนสัมพันธ์กับการกำเริบของโรคสะเก็ดเงินได้มากถึงร้อยละ 30-40
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต และ ยารักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งมีส่วนทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินกำเริบได้ ผู้ป่วยจึงควรแจ้งแพทย์ผู้รักษาให้ทราบทันทีหากมีการใช้ยาดังกล่าวร่วมด้วย
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะแอลกอฮอล์ทำให้โรคกำเริบได้อย่างง่ายดาย
- หลีกเลี่ยงแสงแดดที่ร้อนเกินไป เพราะจะทำให้ผิวหนังอักเสบมากขึ้น จนมีผื่นสะเก็ดเงินเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี การระคายเคืองต่างๆ ในบริเวณร่างกายจากการกด รัด เสียดสี เพราะสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดอาการผื่นคัน และมีอาการของโรคสะเก็ดเงินกำเริบในเฉพาะส่วนได้
“เพื่อให้การสื่อสารเกี่ยวกับความรู้ที่สำคัญและแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงินสามารถเป็นไปในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น สถาบันฯ จึงได้จัดทำ E-Book ชุด “ความรู้เรื่องโรคสะเก็ดเงิน” สำหรับแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทั่วไปสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น รวมไปถึงประชาชนทั่วไป โดยสามารถดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ที่ inderm.go.th หรือ Facebook สถาบันโรคผิวหนัง สำหรับวิดีโอชุด “ผมเป็นโรคสะเก็ดเงินครับ” ก็สามารถรับชมได้ที่ inderm.go.th เช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “สถาบันโรคผิวหนัง” ได้ฟรี สำหรับระบบปฏิบัติการ Android ที่ Google Play Store ซึ่งนอกจากจะมีข้อมูลโรคสะเก็ดเงินแล้วยังรวบรวมโรคทางผิวหนังต่างๆ เอาไว้อีกด้วย” แพทย์หญิงมิ่งขวัญ กล่าวเพิ่มเติม