กระแสวัฒนธรรมเมกเกอร์ หรือ การสร้างสรรค์ประดิษฐ์ผลงานด้วยตัวเอง กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งในประเทศไทยของเรามานานหลายปีแล้ว โดยมีหัวหอกคืองาน เมกเกอร์ แฟร์ บางกอก (Maker Faire Bangkok) มหกรรมแสดงผลงานของเหล่าเมกเกอร์ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ทำให้งานนี้เป็นหนึ่งในเมกเกอร์ แฟร์ที่สำคัญของเอเชีย ที่เหล่าเมกเกอร์และผู้สนใจในการประดิษฐ์ตั้งตารอที่จะได้ร่วมแสดงผลงาน และแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อนๆ ชาวเมกเกอร์เพื่อพัฒนาผลงานประดิษฐ์ของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
มหกรรมเมกเกอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
หากถามเหล่าเมกเกอร์ ว่าอยากไปร่วมงานเมกเกอร์ แฟร์ ที่ไหนมากที่สุด คำตอบที่จะได้จากเมกเกอร์ส่วนใหญ่ก็คือ ‘เมกเกอร์ แฟร์ เบย์ แอเรีย’ (Maker Faire Bay Area) ซึ่งเป็นต้นตำรับของงานเมกเกอร์แฟร์ ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2006 ที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ที่ช่วยจุดประกายความสนใจในวัฒนธรรมเมกเกอร์ในสหรัฐอเมริกาได้ในวงกว้าง ก่อนที่จะขยายการจัดงานไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยในปีนี้ Maker Faire Bay Area 2019 จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีเมกเกอร์มืออาชีพร่วมแสดงผลงานกว่า 500 คนและมีผู้ร่วมงานกว่า 200,000 คน สามารถสร้างแรงบันดาลใจและความสนใจให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไปในการลงมือสร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเอง ก้าวสู่การเป็นเมกเกอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเมกเกอร์มีส่วนช่วยให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ
โดยในปีนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และพันธมิตรหลัก นำเยาวชนไทยผู้ชนะการประกวดสิ่งประดิษฐ์สุดเจ๋งจากโครงการ Enjoy Science : Young Makers Contest ปี 3 หัวข้อ Green Innovation: นวัตกรรมโลกสีเขียว บินลัดฟ้าร่วมงาน ได้แก่ นายมานพ คงศักดิ์ และนายสุรศักดิ์ ฟองหิรัญศิริ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีพัทลุง เจ้าของผลงาน หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ จากสายสามัญ ส่วนสายอาชีวศึกษา ได้แก่ นายวัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ และนายนูรุดดีน เจะปี นักศึกษาชั้นปวส. 2 วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เจ้าของผลงาน Clean Oyster หรือ เครื่องล้างหอยนางรม ซึ่งการทัศนศึกษาดูงานครั้งนี้ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ที่คุ้มค่าให้กับน้องๆ เยาวชนคนเก่งทั้ง 4 ได้พบปะกับเมกเกอร์มืออาชีพจากทั่วโลกที่มาแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ นับเป็นการเปิดไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้ชุมชนและสังคมต่อไป
สุดยอดประสบการณ์เปิดโลกวิทยาศาสตร์
นายวัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ตัวแทนทีมผู้ชนะเลิศจากสายอาชีวศึกษา ได้บอกเล่าประสบการณ์สุดประทับใจว่า “รู้สึกดีใจและประทับใจมากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Maker Faire Bay Area ครั้งนี้ เพราะได้มาเห็นสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์มากมายจากทั่วโลก รวมถึงการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเมกเกอร์จากประเทศต่างๆ ทำให้นิยามคำว่า ‘เมกเกอร์’ ของผมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะการเป็นเมกเกอร์นั้นสามารถเริ่มต้นได้จากการสร้างผลงานชิ้นเล็กๆ หรือสิ่งที่ตนเองชอบเป็นพิเศษ แล้วนำกลับไปปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งผลงานชิ้นนั้นๆ อาจนำไปประยุกต์ใหม่ให้กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งสำคัญที่ผมอยากฝากไปถึงทุกคนที่ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง คือ อยากให้ลองทำดูก่อน ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นเมกเกอร์ได้ ขอแค่เรามีจินตนาการ คิดแล้วลงมือทำเลย มันอาจไม่ได้สำเร็จในทันที แต่ถ้าเรามีความตั้งใจ ไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง วันหนึ่งเราก็สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ดีๆออกมาได้”
และอีกหนึ่งตัวแทนเยาวชนที่ได้ไปร่วมงานครั้งนี้ นายมานพ คงศักดิ์ นักเรียนจากโรงเรียนสตรีพัทลุง ตัวแทนจากทีมผู้ชนะเลิศสายสามัญ กล่าวว่า “การได้ไปร่วมงาน Maker Faire Bay Area ที่ต่างประเทศครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ผมไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ทำให้เราได้เปิดโลก ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์เจ๋งๆมากมาย ได้เจอกับเมกเกอร์ทุกเพศทุกวัยจากหลายๆประเทศ ตั้งแต่เด็กจนถึงคนมีอายุ ซึ่งทำให้ผมยิ่งเกิดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เก่งขึ้น เพื่อเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะพอได้มาเห็นผลงานของเมกเกอร์ท่านอื่น ทำให้เรารู้ว่ามันยังมีอะไรอีกเยอะให้เราได้เรียนรู้และพัฒนา ซึ่งผมก็จะนำประสบการณ์ แนวคิด ความรู้ และแรงบันดาลใจที่ได้รับเหล่านี้กลับมาถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆ และน้องเมกเกอร์ด้วยกัน”
Young Makers Contest 4 สมัครได้แล้ววันนี้
สำหรับใครที่อยากมีโอกาสไปทริปร่วมงาน Maker Faire ระดับโลกแบบนี้ ตอนนี้โครงการ ‘Enjoy Science: Young Makers Contest ปี 4’ ได้เปิดรับสมัครไอเดียแล้วสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ นักเรียน–นักศึกษาสายอาชีวศึกษา ระดับไม่เกินปริญญาตรี (สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษา) และนักเรียน–นักศึกษาสายสามัญ ระดับไม่เกินปริญญาตรี ภายใต้หัวข้อ “Social Innovations: นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” โดยเปิดกว้างให้เมกเกอร์ระดับเยาวชนคิดค้นและสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในสังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน ผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษาและโอกาสในการเข้าร่วมงานเมกเกอร์ระดับโลกในปี 2563 โดยเปิดรับสมัครไอเดียสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร พร้อมดูรายละเอียดและกติกาการเข้าแข่งขัน เพิ่มเติมได้ที่ https://www.nstda.or.th/sims/login หรือเฟซบุ๊กเพจ Enjoy Science: Young Makers Contest https://www.facebook.com/Chevron3D