นายวรวิทย์ นงค์นวล

เมื่อก่อน หลายชุมชนในจังหวัดเจอปัญหาหนี้นอกระบบ มีแก๊งไอ้โม่งเข้ามาทวงหนี้ข่มขู่คนในหมู่บ้าน ชาวบ้านวิตกกังวลและหวาดกลัวกันไปทั่ว เพราะถูกนายทุนคิดดอกเบี้ยสูงลิบลิ่ว ทบต้นทบดอกแล้วไม่มีเงินพอส่งรายวัน นอกจากนี้ แต่ละพื้นที่ยังเจอปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะคดีลักทรัพย์ ทำให้คนเริ่มทยอยย้ายกันออกไป

เสียงสะท้อนจากชาวบ้านในเวทีเสวนา “แลกเปลี่ยนประสบการณ์ 8 ปี กับ เชฟรอนพลังใจพลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง” แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของหนี้นอกระบบซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญของสังคมไทย จากการศึกษาวิจัยของสํานักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2560 พบว่าคนไทยเกือบ 1.1 ล้านครัวเรือนมีหนี้สินนอกระบบ โดยบางรายเป็นหนี้นอกระบบสูงกว่า 3.8 หมื่นบาทต่อคน ซึ่งมีสาเหตุมาจากประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ จนต้องไปพึ่งพาและถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้นอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงอย่างไม่เป็นธรรมและวิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย การให้ความรู้เรื่องการวางแผนการเงินการลงทุนให้แก่ประชาชน การส่งเสริมช่องทางการเข้าถึงเงินกู้และการสร้างสถาบันการเงินชุมชน เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากวังวนของหนี้นอกระบบ ทั้งยังคลี่คลายปัญหานี้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ผ่านมา ปัญหาหนี้นอกระบบมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับพันธมิตร ทำงานร่วมกับชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ออกมาเป็นโครงการ “เชฟรอนพลังใจ พลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง” มาตั้งแต่ปี 2554 ด้วยการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านหรือธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมวินัยการออม เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการประกอบอาชีพทั้งอาชีพหลักและอาชีพลอง ตลอดจนสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนในชุมชน โดยปัจจุบัน โครงการฯ ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 8 และมีชุมชนเข้าร่วมถึง 50 หมู่บ้าน

นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศสำรวจและผลิต จำกัด กล่าว ว่า “เชฟรอนและพันธมิตรมุ่งดำเนินโครงการเพื่อสังคมไทยที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมถึงโครงการเชฟรอน พลังใจ พลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของคนในพื้นที่มาตั้งแต่ขั้นวางแผนไปจนถึงการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 8 ด้วยงบประมาณสนับสนุนรวมกว่า 170 ล้านบาท และประสบผลสำเร็จสามารถจัดตั้งเครือข่ายธนาคารพัฒนาหมู่บ้านและกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการอย่างเข้มแข็งโดยสมาชิกของชุมชน ครอบคลุม 50 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอท่าศาลา และอำเภอพรหมคีรี มีสมาชิกทั้งสิ้น 5,113 คน มีเงินออมรวมกว่า 27 ล้านบาท และมีเงินกองทุนหมุนเวียนกว่า 44 ล้านบาท และมีความรู้และความเข้มแข็งในการบริหารจัดการด้านการเงินของชุมชนร่วมกันได้ต่อไป สามารถยืนหยัดและพึ่งพาตนเองได้ในทุกสภาพเศรษฐกิจ”

นายวรวิทย์ นงค์นวล ประธานเครือข่ายโครงการเชฟรอนพลังใจพลังคนเพื่อชุมชนเข็มแข็ง กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานร่วมกับชุมชนทั้ง 50 หมู่บ้าน ได้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในพื้นที่ ช่วยให้สมาชิกสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แทนที่จะต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ชาวบ้านมีวินัยทางการออมตลอดจนความรู้ด้านการจัดการทางการเงินเพิ่มขึ้น มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ ช่วยให้สมาชิกชุมชนมีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในปีนี้ เราสามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในชุมชนส่วนใหญ่ที่ร่วมโครงการฯได้ ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญของโครงการฯ”

นางชนากานต์ ทองเรือง ในฐานะสมาชิกของชุมชนและประธานเครือข่ายธนาคารตำบลกลาย กล่าวถึงผลลัพธ์ของโครงการฯ ว่า “นับว่าเป็นโชคดีของชุมชนของเราที่ได้เข้าร่วมกับ ‘โครงการเชฟรอน พลังใจ พลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง’ คนในชุมชนได้รับการส่งเสริมสนับสนุนในหลาย ๆ ด้าน ทั้งองค์ความรู้ โอกาสทางธุรกิจและงบประมาณสนับสนุน ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้และหลุดพ้นจากภาระหนี้อย่างยั่งยืน จากที่เมื่อก่อนชาวบ้านต้องดิ้นรนออกไปหางานทำที่กรุงเทพฯหรือจังหวัดอื่น ปัจจุบันคนท้องถิ่นกลับบ้านมาร่วมกันพัฒนาชุมชน ร่วมมือกันตั้งกลุ่มส่งเสริมอาชีพ เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าวันนี้ชุมชนของเราเข้มแข็งขึ้น คนในชุมชนช่วยเหลือและดูแลกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกัน มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น และเราก็ไม่ได้ทำแต่เฉพาะชุมชนของเรา เรายังช่วยเหลือกันกับกลุ่มอื่น ๆ ให้ทุกกลุ่มยืนได้ พร้อมเดินหน้าไปด้วยกัน”

“โครงการเชฟรอน พลังใจ พลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง เป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของชุมชน ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งเป็นพันธกิจที่เชฟรอนยึดมั่นและถือปฏิบัติตลอดระยะเวลากว่า 56 ปี ของการดำเนินงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบ้านอีกหลังของเรา ความสำเร็จของโครงการฯ จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีและภาคภูมิใจยิ่ง” นางหทัยรัตน์ สรุป