นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความสำเร็จในการจัดงานฝ้ายทอใจครั้งที่ 11 ซึ่งเป็นงานที่ SACICT จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในชูแนวคิด “ผ้าขาวม้าสารพัดคิด” เป็นงานที่รวมความสร้างสรรค์ของงานฝ้ายจากทั่วไทย อาทิ เสื้อผ้า เครื่องประดับ สินค้าแฟชั่น ของใช้ของตกแต่งบ้าน ผ้าฝ้ายผืน และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าฝ้ายมากมาย โดยผ่านการรังสรรค์จากช่างฝีมือหัตถศิลป์ระดับครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สมาชิก SACICT การจัดงานในปีนี้ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรของ SACICT จากทั่วประเทศไทย รวมกว่า 150 ร้านค้าที่มาออกร้าน ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

“ภาพรวมการจัดงานถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถกระตุ้นและส่งเสริมให้ผ้าฝ้ายทอมือเป็นที่รู้จักเป็นแพร่หลายยิ่งขึ้น ตลอดการจัดงาน 4 วัน มีผู้ร่วมงานประมาณ 6,000 กว่าราย และมีเงินสะพัดจากยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในงานกว่า 22.96 ล้านบาท ซึ่งเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ่น 12% ความสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้เพิ่มต่อยอดและขยายตลาดผ้าฝ้ายและผ้าขาวม้าของไทยสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น” นางอัมพวัน พิชาลัย กล่าว

สำหรับแนวคิดสำคัญในปีนี้จะมุ่งนำเสนอคุณค่าของ “ผ้าฝ้าย” และผ้าขาวม้า” อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แฝงด้วยเสน่ห์ ชวนหลงใหล สำหรับ “ผ้าขาวม้า” ยังสะท้อนอัตลักษณ์เฉพาะให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนความเชื่อและความชื่นชอบที่แตกต่าง แพทเทิร์นของผ้าขาวม้าแต่ละลวดลายจึงมีความน่าสนใจในตัวเองแบบที่ไม่ซ้ำกัน และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาอย่างยาวนาน SACICT เล็งเห็นว่า คนเมืองยุคใหม่ในปัจจุบัน ไม่เคยใช้ผ้าขาวม้า แต่รู้จักจากสื่อต่างๆ เท่านั้น ทาง SACICT ส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่หันมาสนใจและ ใช้ผ้าขาวม้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตปัจจุบัน (Today Life’s Crafts) พร้อมวางยุทธศาสตร์และบทบาทการ Enhancing Navigator โดยให้ความสำคัญในการรณรงค์ให้คนไทยสามารถเข้าถึงเข้าใจ และใช้ผ้าขาวม้าในบริบทที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะสร้างกระแส ความสนใจ กระตุ้นการใช้ผ้าขาวม้าในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะการเป็น “ของที่ระลึกแห่งชาติ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของประเทศไทยต่อยอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับกลุ่มต่างชาติ ทั้งนี้ SACICT ในฐานะหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนและขานรับนโยบายของรัฐบาลขับเคลื่อนผ้าไทยสู่ตลาดโลก

นอกจากนี้ SACICT ได้ร่วมพันธมิตรร่วมกันสร้างสรรค์ และต่อยอดผ้าขาวม้าให้ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผ้าขาวม้าไทยที่เข้ากับชีวิตคนรุ่นใหม่ รวมถึงร่วมรณรงค์ เพื่อสร้างกระแส กระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับชุมชน/กลุ่มผู้ผลิต และสมาชิก SACICT และพันธมิตรการพัฒนาเพื่อยกระดับภาพลักษณ์ผ้าขาวม้าไทยให้ดูทันสมัย และเข้ากับชีวิตปัจจุบันได้อย่างลงตัว