คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัว “นมข้าวข้นหวานเพื่อสุขภาพ” นมข้นหวานจากธัญพืช ปราศจากไขมันทรานส์ จากส่วนผสมของน้ำนมข้าวหอมมะลิร่วมกับน้ำเชื่อมพรีไบโอติกจากแก่นตะวัน อินูลิน และน้ำมันรำข้าว ที่ให้คุณค่าเชิงฟังก์ชัน ในรูปแบบ 3L คือ “Less Sugar – น้ำตาลน้อย” จากส่วนผสมของน้ำตาลที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์นมข้นหวานทั่วไปถึง 6 เท่า “Less Fat – ไขมันต่ำ” ด้วยส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม 0 เปอร์เซ็นต์ และ “Less Calories – แคลอรีต่ำ” จากส่วนผสมของน้ำเชื่อมแก่นตะวันและอินูลินที่มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ใยอาหารและให้พลังงานน้อย ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยวิธีการสเตอริไลส์ พร้อมบรรจุผลิตภัณฑ์ในถุงรีทอร์ทเพาซ์ที่สะดวกต่อการรับประทานและพกพา ทั้งนี้ นมข้าวข้นหวานดังกล่าว ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และพร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการที่สนใจต่อยอด เพื่อผลิตและวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยที่ล่าสุด สามารถคว้ารางวัลเหรียญเงิน จากเวทีประกวดงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หัวหน้าทีมวิจัย “นมข้าวข้นหวานเพื่อสุขภาพ” กล่าวว่า จากสถิติการเสียชีวิตด้วย “โรคเบาหวาน” หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ยอดฮิตของคนไทย ในปี พ.ศ. 2556 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ถึง 349,090 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 75.2 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด (ที่มา: กรมควบคุมโรค, 2557) ซึ่งเป็นผลมาจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและพฤติกรรมบริโภคที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การทานอาหารหวาน-มัน-เค็มเกินพอดี มีอาการเครียดสะสม พักผ่อนและออกกำลังกายไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันกลุ่มวัยรุ่น มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่-ผู้สูงอายุที่รักสุขภาพ และควบคุมน้ำหนัก ทีมนักวิจัยจึงพัฒนา “นมข้าวข้นหวานเพื่อสุขภาพ” นมข้นหวานจากธัญพืช สูตรหวานพอดี-ไขมันต่ำ ปราศจากไขมันทรานส์ ผลิตจากน้ำนมข้าวหอมมะลิ ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย มาพร้อมแพ็คเกจจิ้งที่ทานง่ายและพกพาสะดวก
ดร.กฤติยา กล่าวต่อว่า นมข้าวข้นหวานเพื่อสุขภาพ ถูกพัฒนาขึ้นจากผลผลิตภายในประเทศที่มีอัตลักษณ์อย่างข้าวหอมมะลิที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและมีกลิ่นหอม ร่วมกับน้ำเชื่อมพรีไบโอติกจากแก่นตะวัน อินูลิน และน้ำมันรำข้าว ที่ให้คุณค่าเชิงฟังก์ชัน ในรูปแบบ 3L คือ “Less Sugar – น้ำตาลน้อย” จากส่วนผสมของน้ำตาลที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์นมข้นหวานทั่วไปถึง 6 เท่า “Less Fat – ไขมันต่ำ” ด้วยส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม 0 เปอร์เซ็นต์ และ “Less Calories – แคลอรีต่ำ” จากส่วนผสมของน้ำเชื่อมพรีไบโอติกจากแก่นตะวันและอินูลินที่มีคุณสมบัติให้พลังงานน้อย โดยนมข้าวข้นหวาน 20 กรัม (1 หน่วยบริโภค) จะให้พลังงานประมาณ 30 กิโลแคลอรี่เท่านั้น ทั้งนี้ นมข้าวข้นหวานดังกล่าว จะมีลักษณะคล้ายกับนมข้นหวานทั่วไป คือ มีความข้นหนืด รสชาติหวานมัน แต่มีกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิ ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยวิธีการทำให้อาหารปลอดเชื้อโดยการใช้ความร้อน (Sterilization) พร้อมบรรจุผลิตภัณฑ์ในถุงรีทอร์ทเพาซ์ (Retort Pouch) เพื่อให้สะดวกต่อการเก็บรักษา รับประทานและพกพา นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นส่วนผสมขนมหวานเพื่อสุขภาพได้หลายรูปแบบ ทั้งการเป็นดิปสำหรับจุ่มแครกเกอร์ในมื้อเช้า ราดฉ่ำ ๆ บนเครปเค้กหลากสีสัน หรือเลือกโรยหวาน ๆ กับบิงซู (Bingsu) เมนูดับร้อนสไตล์เกาหลี ฯลฯ เป็นของหวานที่ดี มีประโยชน์ และยังมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การพัฒนานมข้าวข้นหวานเพื่อสุขภาพ ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 2 ปี โดยได้รับความร่วมมือจากทีมนักวิจัยร่วมสาขาฯ คือ ดร.สุธีรา วัฒนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ในการพัฒนาสูตรและทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค และทีมนักวิจัยของ รศ.ดร.สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการสนับสนุนองค์ความรู้และวัตถุดิบ คือ น้ำเชื่อมพรีไบโอติกจากแก่นตะวัน เพื่อทำการวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ นมข้าวข้นหวานดังกล่าว ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และพร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการที่สนใจต่อยอด เพื่อผลิตและวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ในราคาประมาณ 60 บาทต่อหลอดบรรจุ 180 กรัม โดยล่าสุด สามารถคว้ารางวัลเหรียญเงิน จากเวทีประกวดงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ดร.กฤติยา กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถขอคำปรึกษาหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 02-564-4440 ต่อ 2550 หรือ เฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/Foodsciencetu