สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยขอนำเรื่องของ “กัญชา” ช่วยบรรเทาอาการทางโรคผิวหนังได้จริงหรือ ? มาพูดถึงเรื่องของการนำกัญชามาใช้ในการรักษาโรค ซึ่งเป็นที่กล่าวขานอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับในวงการแพทย์และเภสัชกรรมที่ได้เห็นความสำคัญและพยายามศึกษาค้นคว้าในเรื่องการนำกัญชามาใช้อย่างถูกวิธีในทางการแพทย์ เนื่องจากกัญชาจัดอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง ดังนั้นการศึกษาเพื่อประเมินระหว่างข้อดีและข้อเสีย จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งก่อนที่จะนำมาใช้ในการรักษาโรคได้โดยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้รวมทั้งผลกระทบกระเทือนอื่น ๆ ในสังคมด้วย
“กัญชา” มีสารประกอบแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ที่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ โดยสารที่ออกฤทธิ์คือ Delta-9-Tetrahydrocannabinol (THC) ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและ Cannabidiol (CBD) ที่ไม่มีฤทธิ์เสพติด ในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่เสพกัญชาทั้งหมดนั้นจะมีประมาณ 10 % ที่ใช้เพื่อเป็นวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ มีการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับการใช้กัญชาสำหรับบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง, อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ, โรคเบื่ออาหารและคลื่นไส้ ในรอบปีที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาถึงการใช้กัญชาในการบรรเทาอาการทางโรคผิวหนังเพื่อระงับอาการคัน, บวม, อักเสบ และการเกิดมะเร็งผิวหนัง มีการศึกษาการใช้กัญชารักษาอาการคันของผิวหนังพบว่ามีผลในการรักษาอาการคันของผู้ป่วยได้ถึง 86.4% นอกจากนี้ยังคาดว่ากัญชาอาจมีคุณสมบัติในการระงับการอักเสบ ซึ่งมีประโยชน์สำหรับใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Atopic dermatitis) และโรคผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) ซึ่งพบว่ากัญชาช่วยลดอาการแพ้, อาการบวมและการอักเสบในสัตว์ทดลองได้ จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกัญชาโดยทั่วไปมีข้อสันนิษฐานว่ากัญชาน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงินและมะเร็งผิวหนังเนื่องจากกัญชามีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเซลล์ผิวหนัง ไม่ให้สร้างมากเกินไป มีการศึกษาการใช้สารสกัดจากเมล็ดกัญชามาใช้ทารักษาสิวและรังแคอักเสบ (Seborrheic dermatitis) พบว่ากัญชาช่วยลดอาการแดงและผิวมันได้
อย่างไรก็ตามพบการศึกษาวิจัยให้ผลตรงข้ามกัน เนื่องจากบางการศึกษาพบว่าการใช้กัญชาที่ผิวหนังอาจทำให้เกิดปฎิกริยาอักเสบแทนที่จะลดการอักเสบ และบางการศึกษาพบว่ากัญชาอาจลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิดแต่อาจลดการเจริญของเซลล์ผมด้วย ดังนั้นจึงควรมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยทางด้านกัญชามากขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนในด้านการรักษาทั้งในด้านบวกและด้านลบ
สรุปแล้วนอกเหนือไปจากกัญชาจะมีข้อเสียที่เป็นยาเสพติดที่ก่อให้เกิดความมึนเมาขาดการควบคุมสติสัมปชัญญะได้แต่อาจมีผลดีในด้านการบรรเทาอาการและรักษาโรคผิวหนังบางชนิดจากผลการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาดังได้กล่าวข้างต้น แต่ในขณะนี้ยังไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาเป็นลำดับแรกโดยเฉพาะกัญชาที่ยังไม่ผ่านการรับรองตำรับจากคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลองหรือในกลุ่มอาสาสมัครจำนวนน้อย ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในงานวิจัยจำนวนมากกว่านี้ และยังต้องคำนึงถึงการควบคุมการผลิตยาจากกัญชาด้วยอัตราส่วนที่ถูกต้อง รวมทั้งข้อบ่งชี้ในการใช้บรรเทาและ/หรือรักษาโรคที่ชัดเจนและเหมาะสมก็จะเป็นผลดีแก่ผู้ป่วยและวงการแพทย์ต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน