นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานการแถลงข่าวกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 (26th SOCA) การประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 21 (21st ASCC Council) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้แนวคิดหลัก คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน: Advancing Partnership for Sustainability” เพื่อเป็นเวทีกลางสำหรับการดำเนินงาน และการรับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุม สำหรับนำเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน พร้อมร่วมผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทนำและเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานของอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
นายปรเมธี กล่าวว่า ปี 2562 เป็นปีที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะครบรอบวาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอีกครั้งในรอบ 10 ปี ซึ่งภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎบัตรอาเซียน ข้อ 31 กำหนดให้การเป็นประธานอาเซียน หมุนเวียนทุกปีตามลำดับอักษรของชื่อภาษาอังกฤษของรัฐสมาชิกอาเซียน โดยแนวคิดหลักสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในครั้งนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน: Advancing Partnership for Sustainability” ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในปี 2562 ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคนไทยทุกคนและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมกันเป็นเจ้าบ้านและเจ้าภาพที่ดีในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากทั่วทั้งอาเซียน
นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในปีนี้ นอกเหนือจากการเป็นเจ้าภาพ การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 และครั้งที่ 35 ซึ่งผู้นำของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุมแล้ว ยังรวมถึงการจัดการประชุมต่างๆ ในแต่ละประชาคมอาเซียน ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ทั้งนี้ จากตัวเลขของกระทรวงการต่างประเทศ พบว่าจะมีการประชุมอาเซียนในระดับต่าง ๆ ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ รวมจำนวน 284 รายการ ตลอดปี 2562 ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ อีกทั้ง เป็นการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียนผ่านการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน นอกจากนี้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านราชการพลเรือน ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน และด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา
นายปรเมธี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการประชุมภายใต้ ASCC ในปี 2562 มติคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวง พม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดการประชุมทั้งในระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. การประชุมในรอบเดือนพฤษภาคม ระหว่างวันที่ 13 – 18 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส จำนวน 3 รายการ ได้แก่ การประชุมคณะทำงาน เรื่องวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน ครั้งที่ 2 การประชุมประสานงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 14 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมระดับรัฐมนตรี จำนวน 1 รายการ ได้แก่ การประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 21 2. การประชุมในรอบเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ณ กรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล จำนวน 2 รายการ ได้แก่ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 27 ซึ่งเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส พร้อมกับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 22 ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี
นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี 2562 จะดำเนินอยู่ภายใต้แนวคิดหลักสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยดังกล่าวข้างต้น และเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน “3/4/14” คือ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยงภาคประชาชน (People-to-People Connectivity) และหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnerships) ความยั่งยืน (Sustainability) การเตรียมความพร้อมและวางแผนด้านความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับอนาคต (Future-Oriented Actions for Human Security) 4 ศูนย์อาเซียน ที่จะมีการจัดตั้งหรือปรับปรุงพัฒนา ได้แก่ คลังสิ่งของช่วยเหลือและระบบโลจิสติกส์เพื่อช่วยเหลือ เมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียนในประเทศไทย ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม และ 14 เอกสารผลลัพธ์สำคัญ โดยจำแนกเป็นเอกสารผลลัพธ์สำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จำนวน 5 ฉบับ และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 จำนวน 9 ฉบับ
“สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดงานประชุมดังกล่าว เบื้องต้นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อเตรียมการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนและการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี 2562 โดยมีปลัดกระทรวง พม. เป็นประธาน และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะ คณะอนุกรรมการด้านพิธีการและอำนวยการ และคณะทำงานด้านงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การจัดประชุมอาเซียนต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวง พม. ในปี 2562 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม การจัดการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการดำเนินการตามบทบาททางนิตินัยที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียนที่ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนต้องปฏิบัติตามแล้ว ยังเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งในการแสดงบทบาทนำทางพฤตินัยในเวทีอาเซียนของประเทศไทย ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทนำและเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านต่างๆ ของอาเซียน อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป” นายปรเมธี กล่าวในตอนท้าย