คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasart School of Engineering : TSE) โชว์นวัตกรรมสุดเจ๋งรับวันเด็กแห่งชาติ 2562 ดึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ พัฒนานวัตกรรม “หนูขออ่าน” ชุดตรวจคัดกรองภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ที่เกิดจากการทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง เป็นความผิดปกติของโครโมโซมหรือกรรมพันธุ์ในเด็กเกิดใหม่กว่า 40,000 คนต่อปี ชูจุดเด่นใช้งานง่าย ด้วยแทปเลตหรือสมาร์ทโฟน รู้ผลไวภายใน 30 นาที อุดช่องโหว่ด้านพัฒนาการที่ไม่สมวัย หวังช่วยเด็กไทยมีโอกาสทางการศึกษา เติมเต็มทักษะ อ่าน เขียน คำณวน อย่างเท่าเทียม

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

รองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า คณะฯ ได้พัฒนานวัตกรรม “หนูขออ่าน” ชุดตรวจคัดกรองผู้มีความบกพร่องในการเรียนรู้ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ บนแทปเลตหรือสมาร์ทโฟน ที่พัฒนาร่วมกับ ดร.จุฑามณี อ่อนสุวรรณ อาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจุดเด่นของนวัตกรรม “หนูขออ่าน” คือ การตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ต่างจากโปรแกรมคัดกรองแบบเดิมที่สามารถคัดกรองได้หลังอายุ 8 ขวบเท่านั้น โดยใช้เวลาตรวจคัดกรองเพียง 30 นาที ซึ่งได้ผลการคัดกรองที่แม่นยำถึงร้อยละ 95 ทั้งนี้ลักษณะของความบกพร่องทางการเรียนรู้ สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • ความบกพร่องด้านการอ่าน (dyslexia) ได้แก่ ปัญหาในด้านการอ่าน อ่านหนังสือไม่ออก หรืออ่านหนังสือได้ เช่น สะกดไม่ถูก อ่านตกหล่น สามารถอ่านได้ทีละตัวอักษร แต่ไม่สามารถผสมคําได้ หรือมีความบกพร่องในการจดจำพยัญชนะ สระ ขาดทักษะในการสะกดคำ เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ได้อย่างจำกัด หรืออ่านได้แต่คำศัพท์ง่าย ๆ อ่านผิดบ่อย เด็กกลุ่มนี้จึงใช้วิธีการเดาคำเวลาอ่าน อ่านได้แต่คำที่เห็นบ่อย เนื่องจากใช้วิธีการจำคำ แต่ไม่ได้อาศัยการสะกด และอ่านตะกุกตะกัก จับใจความสำคัญหรือเรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่องที่อ่านไม่ได้
  • ความบกพร่องด้านการเขียน (dysgraphia) ได้แก่ปัญหาในการเขียนพยัญชนะ สระ ตัวสะกด วรรณยุกต์ และการันต์ ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาไทย จึงทำให้เขียนและสะกดคำผิด มีปัญหาการเลือกใช้คำศํพท์ การแต่งประโยค การสรุปเนื้อหาสำคัญ ทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดความคิดผ่านการเขียนได้ตามลำดับชั้นเรียน แต่สามารถคัดลอกตัวหนังสือตามแบบได้ และในบางรายอาจเขียนตกหล่น สลับตําแหน่ง เขียนไม่เป็นประโยคที่สมบูรณ์ ใช้คําเชื่อมไม่ถูกต้อง เว้นวรรคหรือย่อหน้าไม่ถูกต้อง จึงไม่สามารถแต่งประโยคหรือเล่าเรื่องจากการเขียนได้ อีกทั้งเด็กบางคนอาจเขียนพยัญชนะหรือตัวเลขสลับกัน หรือมีปัญหาเขียนพยัญชนะกลับด้าน คล้ายมองจากกระจกเงา
  • ความบกพร่องด้านการคํานวณ (dyscalculia) ได้แก่ความสับสนเกี่ยวกับตัวเลข ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข นับเลขไปข้างหน้าหรือย้อนหลังไม่ได้ เขียนเลขกลับกัน รวมถึงขาดทักษะและความเข้าใจเกี่ยวกับการนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ไม่สามารถแปลโจทย์ปัญหาเป็นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ จึงไม่สามารถหาคำตอบได้ หรือมีการคํานวณที่ผิดพลาด ตกหล่นเกี่ยวกับเรื่องตัวเลขเป็นประจํา

อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจมีภาวะความบกพร่องด้านใดด้านหนึ่ง ในขณะที่เด็กบางคนอาจมีความบกพร่องร่วมกันทั้ง 3 ด้านพร้อมกัน โดยความบกพร่องประเภทที่พบมากที่สุด คือ ความบกพร่องด้านการอ่าน ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการเรียน โดยโปรแกรมดังกล่าวต่อยอดไปสู่การรักษาเพื่อฟื้นฟูทักษะในรายที่มีความบกพร่อง และจะช่วยให้เด็กได้รับการช่วยเหลือและได้รับการดูแลที่เหมาะสมโดยเฉพาะด้านการเรียน และสามารถจัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละราย เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้ได้เท่าเทียมกับเด็กทั่วไป เพราะยิ่งสามารถตรวจคัดกรองเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากเท่าไหร่ จะยิ่งช่วยฟื้นฟูความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กได้เร็วยิ่งขึ้น และจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเรียนและการดำเนินชีวิตต่อไป เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในทุกมิติ

ปัจจุบันประเทศไทย ยังมีข้อจำกัดในการตรวจคัดกรองผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities: LD) จากการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ปกครองและครูในโรงเรียน หรือแม้แต่การเข้าถึงการรักษา เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญในการตรวจคัดกรองซึ่งมีอยู่จำกัด การออกแบบประเมินที่ยังไม่ครอบคลุมการทดสอบทักษะของเด็กที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่ถูกแปลมาจากชุดคัดกรองภาษาต่างประเทศ และการตรวจคัดกรองแต่ละครั้งใช้เวลานาน ส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งเติบโตมาพร้อมความบกพร่อง และค่อยๆส่งผลกับการเรียนรู้ที่เด่นชัดเมื่อโตขึ้น สำหรับประเทศไทย มีอัตราการเกิดใหม่อยู่ที่ 800,000 คนต่อปี ซึ่งคาดว่า จะมีอัตราการเกิดภาวะความบกพร่องทางการเรียนรู้เพิ่มเป็น 40,000 คนต่อปี และพบในเด็กผู้ชายจะเป็นมากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 4 เท่า โดยนวัตกรรม “หนูขออ่าน” จะช่วยให้ทราบถึงปัญหาด้านพัฒนาการของเด็ก ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไข เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะสมและมีพัฒนาการที่สมวัย

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT