RISC

อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฐาน สถาปนิกชาวดัตช์ ศาสตราจารย์ด้านนาโนไบโอนิกจากสถาบัน MIT และวิศวกรนักซ่อมมนุษย์ชาวไทย กูรูระดับโลกสี่ท่านที่ดูเผิน ๆ ไม่น่าจะมาอยู่ร่วมกันในงานเดียวได้ แต่สิ่งที่ทั้งสี่มีเหมือนกันคืออุดมการณ์และองค์ความรู้ในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน เพื่อให้มนุษย์และทุกสรรพสิ่งบนโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เพื่อตอกย้ำเป้าหมายขององค์กรในการพัฒนาความคิดและนวัตกรรม ผ่านความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกสรรพสิ่ง ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC จึงได้จัดงานเสวนาระดับนานาชาติ WATS FORUM 2019 ในวันที่ 3 มิถุนายนนี้ และเชิญนักวิชาการ นักคิด และนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก อีกทั้งยังเปี่ยมด้วยองค์ความรู้และมุมมองในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน มาร่วมแบ่งปันแนวคิดทั้งด้านการออกแบบ การสร้างสถาปัตยกรรม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดย กูรูทั้ง 4 คนนี้ ได้แก่

รศ. ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ – วิศวกร และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักซ่อมสมองมนุษย์ ซึ่งจะมาถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับBrain-Computer Interface (BCI) ซึ่งผนวกรวมเทคโนโลยีคลื่นไฟฟ้าสมองกับวิศวกรรมศาสตร์และกลายมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ทุพพลภาพ พร้อมส่งต่อแนวคิดเพื่อต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต

ศาสตราจารย์ ไมเคิล สตีเวน สตราโน – นักวิศวเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ไขความลับการพัฒนาต้นไม้เรืองแสง ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนไบโอนิค ซึ่งมีผลงานตีพิมพ์ด้านการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมกว่า 50 ฉบับ และยังเป็นผู้ก่อตั้งสาขาวิชา Plant Nanobionics ซึ่งศึกษาและพัฒนาพืชให้มีความสามารถแปลกใหม่ โดยในงานเสวนาครั้งนี้ เราจะได้ทราบว่า ศ. สตราโน จะนำความมหัศจรรย์ของพืชและสิ่งมีชีวิตเรืองแสงมาสู่การสร้างความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

นอกจากนี้ เรายังได้รับการตอบรับจาก มร. เชอริง ต๊อบเกย์ – อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน ผู้ยึดหลักความสุขมวลรวมของชาติ (Gross National Happiness) สำคัญกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product) ท่านได้ชื่อว่าเป็น นักสร้างความสุข ที่จะมาแบ่งปันเรื่องราวพันธกิจของประเทศภูฏาน ที่ใช้ความสุขของประชากรเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของประเทศ ดัชนีชี้วัดความสุขนี้เป็นอย่างไร และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความสุขพื้นฐานของผู้คนและความเจริญของประเทศได้อย่างไร

ท่านสุดท้าย คือ มร. สเตฟาน เดอ โคนิง – สถาปนิกชาวดัตช์ที่มากด้วยฝีมือและความสามารถ จาก MVRDV สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองชื่อดังระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเสนอการแก้ปัญหาสถาปัตยกรรมร่วมสมัยและการฟื้นฟูเมือง ที่ฝากผลงานการออกแบบไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าดีไซน์สุดล้ำ The Gyre ใจกลางกรุงโตเกียว หรือ Peruri88 โครงการมิกซ์ยูสในกรุงจาการ์ตา ปัจจุบันเขาเป็นผู้ดูแลโครงการของ MVRDV ในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย นอกจากนี้เขายังเป็นติวเตอร์ที่ Delft University อีกด้วย ในงานเสวนาครั้งนี้ เราจะได้รู้กันว่า มร. สเตฟาน เดอ โคนิง จะนำองค์ความรู้ที่มีมากระตุกต่อมคิดด้านสถาปัตยกรรมและผังเมืองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนได้อย่างไร

รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต กล่าวเสริมในท้ายที่สุดว่า การนำกูรูทั้ง 4 มาอยู่ในฟอรั่มเดียวกันเพื่อถ่ายทอดแนวคิดการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนในแง่มุมต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทาง RISC ได้รับเกียรติจากทั้งสี่ท่านมาร่วมงาน WATS Forum 2019 ในครั้งนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการด้านอสังหาฯ นักวิชาการ รวมถึงบุคคลทั่วไปผู้สนใจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งภาครัฐ และเอกชน จึงไม่ควรพลาดที่จะเข้ารับฟังงานเสวนาระดับนานาชาติ WATS Forum 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2562 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสำรองที่นั่งฟรี ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปที่ https://risc.in.th/watsforum/registration/#register

อย่าพลาดงาน “WATS Forum 2019” เสวนาระดับนานาชาติ

<iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/PoQ36SGlBBU" frameborder="0" allow="accelerometer; autoplay; encrypted-media; gyroscope; picture-in-picture" allowfullscreen></iframe>