เร็วๆ นี้ บริษัท เอ็กโคแล็บ จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยีและการให้บริการเกี่ยวกับน้ำ สุขอนามัย และพลังงาน ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายความร่วมมือจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี “กลุ่มคนพันธุ์ใหม่ด้านอาหารปลอดภัย” โดยมีผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเข้าร่วมงาน เพื่อร่วมหาแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยในภูมิภาคอาเซียน
ผู้นำอุตสาหกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมาก ให้ความสนใจเข้าร่วมเรียนรู้ในหัวข้อต่างๆ อาทิเช่น ความท้าทายของการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ การวางแผนการบริหารจัดการสัตว์รบกวนอย่างบูรณาการ การอัพเดทระบบการบริหารจัดการอาหารปลอดภัย ตลอดจนค้นหาแนวทางในการเพิ่มผลผลิตให้กับโรงงานของตนเอง
นายโจชัว มานูสัน รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไป อุตสาหกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่ม ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เอ็กโคแล็บ จำกัด กล่าวว่า “อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อระบบเศรฐกิจของประเทศไทย ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก ความได้เปรียบในด้านทักษะแรงงานมีฝีมือ ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาตินั้น ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นอน”
“เพื่อที่จะรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เอ็กโคแล็บให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่าง การนำเสนอนวัตกรรมที่ทันสมัย ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนและพัฒนาอาหารปลอดภัยให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทย สำหรับงาน Food & Beverage Dinner Talk: Vision to Actionได้มีการ นำเสนอวิสัยทัศน์ของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวงการ เป็นการ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาอาหารปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน” นายโจซัว กล่าวเสริม
งาน “Food & Beverage Dinner Talk: Vision to Action” จัดขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งงานประชุมวิชาการ โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับฟังวิสัยทัศน์ของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวงการ และร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน เพื่อนำไปเป็นกำลังในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จต่อไป
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นสถานการณ์และทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในปัจจุบัน โดยกล่าวว่าสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมจัดทำกรอบมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะ 10 ปี (พ.ศ.2561-2570) และกรอบมาตรการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบ เมื่อ 11 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา โดยได้มีการกำหนดเป้าหมายระยะกลาง 3-5 ปี ได้แก่ การยกระดับเทคโนโลยีและปัจจัยพื้นฐาน พร้อมสร้างนักรบพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร
“สำหรับเป้าหมายระยะยาว 10 ปี เราได้วางหมากให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตของอาเซียน และเป็น 1 ใน 10 ผู้ส่งออกอาหารของโลก ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่า GDP อาหารเพิ่มขึ้นเป็น 1.35 ล้านล้านบาท มีรายได้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี) และเกิดการลงทุนใหม่ในกลุ่ม Food SMEs เพิ่มขึ้น 0.14 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี)” นายยงยุทธกล่าว
ผู้นำองค์กร และผู้บริหารที่มีบทบาทสำคัญที่ได้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการในครั้งนี้ อาทิเช่น นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผศ. ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร นายเอกพล พงศ์สถาพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันดำเนินรายการโดย ผศ. ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต จากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้นแนวทางนโยบายที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐและความเข้มแข็งของหน่วยงานภาคเอกชนจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างคุณค่าทางนวัตกรรม เทคโนโลยี และความปลอดภัยอาหาร รวมทั้งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพและและมีความยั่งยืนต่อไปอีกด้วย