ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิดฟังก์ชั่น ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center) เปิดช่องทางการนำวัสดุไทยไปสู่ตลาดโลก (Material Submission) โดยเปิดรับการนำเสนอวัสดุที่มีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากผู้ประกอบการไทย โดยข้อมูลดังกล่าวจะนำเข้าสู่ฐานข้อมูลวัสดุออนไลน์ของแมททีเรียล คอนเนคชัน (Material ConneXion®) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก รวมถึงนำไปจัดแสดง ณ ต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และเกาหลีใต้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกวัสดุไปสู่ผู้ผลิตทั่วโลก เช่นเดียวกับผ้าใยกัญชงหรือผ้าเฮมพ์และสิ่งทอไหมไทย วัสดุจากเมืองไทย และผู้ประกอบการไทยที่สามารถสร้างรายได้กว่า 26 ล้านบาทต่อปี จากการส่งออกไปยังแบรนด์ชั้นนำของโลก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center) ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7400 ต่อ 213,214 อีเมล [email protected] ตั้งแต่ 10.30 – 21.00 น. (ปิดวันจันทร์)
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ประเทศไทยคือประเทศหนึ่งที่สามารถผลิตวัสดุที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประเทศหนึ่งของโลก วัสดุจากประเทศไทยจึงเป็นที่ต้องการจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีศักยภาพสูง ด้วยภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยมีภูมิปัญญาและความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรให้กลายเป็นวัสดุการผลิตที่มีคุณภาพ อาทิ การนำคราม พืชท้องถิ่นประจำภาคอีสาน มาย้อมผ้าและนำไปเป็นวัสดุเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เสื้อผ้าและกระเป๋า จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก
นายกิตติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากศักยภาพของวัสดุไทย ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการเจ้าของวัสดุและประเทศชาติ จากการส่งออกไปยังผู้ผลิตทั่วโลก ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center) โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จึงเปิดรับการนำเสนอวัสดุจากผู้ประกอบการวัสดุชาวไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการวัสดุชาวไทย ที่สามารถพัฒนาวัสดุให้มีประสิทธิภาพทั้งในด้านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้มีโอกาสในการสร้างรายได้จากการส่งออกไปสู่ผู้ผลิตทั่วโลก ด้วยการเปิดช่องทางการนำวัสดุไทยไปสู่ตลาดโลก (Material Submission) โดยวัสดุที่ได้รับคัดเลือกจะถูกนำเข้าสู่ฐานระบบฐานข้อมูลวัสดุไทย (TCDC Materials Database) และฐานข้อมูลวัสดุออนไลน์ของ แมททีเรียล คอนเนคชัน (Material ConneXion®) รวมถึงนำไปจัดแสดง ณ ต่างประเทศ อาทิ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองบิลเบา ประเทศสเปน เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี และเมืองแดกู ประเทศเกาหลีใต้
ทั้งนี้ มีวัสดุจากประเทศไทยจำนวนมากกว่า 400 ชนิด อยู่ในระบบฐานข้อมูลวัสดุไทยและฐานข้อมูลวัสดุออนไลน์ของแมททีเรียล คอนเนคชัน ที่สามารถสร้างรายได้เป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากการส่งออกไปยังผู้ผลิตจากทั่วโลก อาทิ สิ่งทอไหมไทย ที่ สามารถสร้างรายได้กว่า 26 ล้านบาทต่อปี จากการส่งออกไปยังผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มทั่วโลก รวมถึงผ้าใยกัญชงหรือผ้าเฮมพ์ ที่สามารถส่งออกไปสู่บริษัทรองเท้าผ้าใบยี่ห้อดังจากประเทศสหรัฐอเมริกาและบริษัทผู้ผลิตเครื่องหนังชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศส โดยผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุต่างๆ รวมถึงสามารถหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์วัสดุได้ที่ materials.tcdc.or.th และ th.materialconnexion.com นายกิตติรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center) ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7400 ต่อ 213,214 อีเมล [email protected] ตั้งแต่ 10.30 – 21.00 น. (ปิดวันจันทร์)